คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7422/2537
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525
การที่มือขวาของลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ถือว่าเป็นการสูญเสียมือขวานั้นด้วยที่โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนตามข้อ 54(2) และข้อ 54 วรรคสองแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 9)ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 โดยจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 และกรณีสูญเสียมือขวาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีเดียวกันกับมือขาดในข้อ 1(3) ข้อ 3(3) และ(8) ซึ่งมีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนสามปีห้าเดือน ส่วนข้อ 1(16) ใช้บังคับแก่กรณีสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) เมื่อข้อ 1(3) ได้กำหนดไว้เฉพาะกรณีสูญเสียมือแล้ว การสูญเสียมือขวาของลูกจ้างโจทก์จึงอยู่ในความหมายของข้อ 1(3) ดังกล่าว หาใช่อยู่ในความหมายของการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) ที่มีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนไม่เกินห้าปี ตาม (15) ไม่
โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างโจทก์เสพของมึนเมาจนครองสติไม่ได้ขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่นระหว่างทาง ทำให้ลูกจ้างโจทก์ได้รับบาดเจ็บที่มือขวาแต่ไม่ถึงกับสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน ที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนจึงไม่ชอบขอให้เพิกถอน
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มือขวาของนายไพโรจจน์ หลิ่มสุวรรณ ลูกจ้างโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานเพียงร้อยละเจ็ดสิบห้า ไม่ได้สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง กรณีจึงต้องปรับด้วยข้อ 1 (16) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ซึ่งกำหนดให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนตลอดเวลาที่ต้องรักษาพยาบาล แต่ไม่เกินหนึ่งปี นั้นเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 54 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 9)ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 กำหนดว่า "การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะไปเพียงบางส่วนให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย แต่การคำนวณค่าทดแทนให้เทียบอัตราส่วนร้อยละจากจำนวนระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการสูญเสียอวัยวะประเภทนั้น ๆ ตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย" ดังนั้นไม่ว่ามือขวาของนายไพโรจน์ จะสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ก็ถือว่าเป็นการสูญเสียมือขวานั้นด้วย ที่โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนตามข้อ 54(2) และข้อ 54วรรคสองแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฉบับดังกล่าวโดยจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525และกรณีสูญเสียมือขวาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณี เดียวกันกับมือขาดในข้อ 1(3) ข้อ 3(3) และ (8) ซึ่งมีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนสามปีห้าเดือนส่วนข้อ 1(16) ใช้บังคับแก่กรณีสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) เมื่อข้อ 1(3)ได้กำหนดไว้เฉพาะกรณีสูญเสียมือแล้ว การสูญเสียมือขวาของลูกจ้างโจทก์จึงอยู่ในความหมายของข้อ 1(3) ดังกล่าว หาใช่อยู่ในความหมายของการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) ที่มีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนไม่เกินห้าปีตาม (16) ไม่
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ร็อคกรุ๊ฟ จำกัด จำเลย - สำนักงาน ประกัน สังคม กับพวก
ชื่อองค์คณะ ธวัชชัย พิทักษ์พล ชลิต ประไพศาล ชลอ ทองแย้ม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan