สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2567

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 31 วรรคสอง, 31 วรรคสอง (3)

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร อยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 62 ไร่ 25 ตารางวา เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง และ 31 วรรคสอง (3) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคสอง และ วรรคสอง (3) แต่ในระหว่างความผิดฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 วรรคสอง กับฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 วรรคสอง เพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามราคาไม้หวงห้ามซึ่งเป็นมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย และเสียหายไปเป็นเงิน 6,555,114 บาท แก่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติ

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในฐานความผิดตามฟ้อง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันบุกรุกเป็นเนื้อที่ตามฟ้องโดยบุกรุกเป็นเนื้อที่เพียงประมาณ 7 ไร่ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกคำขอ

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนรถแทรกเตอร์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน และให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติ ริบมีด 2 เล่ม ขวาน 2 เล่ม จอบ 1 เล่ม เครื่องพ่นยา 2 เครื่อง และรถกระบะของกลาง ให้คืนรถแทรกเตอร์ของกลางแก่ผู้ร้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 900,000 บาท แก่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 6,555,114 บาท แก่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยทั้งสองฟัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้รับฟังได้ว่า พื้นที่ป่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม บ้านแม่สะต๊อบ หมู่ที่ 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 172 และแผนที่แสดงชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ สภาพพื้นที่ตามภาพถ่ายประกอบคดี เป็นที่ราบเนินเขา ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองได้ในที่เกิดเหตุพร้อมกับตรวจยึดรถแทรกเตอร์ ยี่ห้อคูโบต้า 1 คัน มีด 2 เล่ม ขวาน 2 เล่ม จอบ 1 เล่ม เครื่องพ่นยา 2 เครื่อง และรถกระบะ 1 คัน เป็นของกลาง ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 54 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองและร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุเป็นเนื้อที่ 62 ไร่ 25 ตารางวา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือบุกรุกเป็นเนื้อที่ 12 ไร่ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันและมีภาพถ่ายที่เกิดเหตุมาสนับสนุน แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยทั้งสองบุกรุกที่เกิดเหตุเป็นเนื้อที่เท่าใดเนื่องจากที่เกิดเหตุอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติห่างไกลจากแหล่งชุมชนและพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้จำเลยทั้งสองนำชี้ที่เกิดเหตุ แต่จากบันทึกการตรวจยึด/จับกุม ระบุพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก 62 ไร่ 25 ตารางวา พร้อมแสดงค่าพิกัดตำแหน่งพื้นที่ 13 จุด ชัดเจน การรังวัดพื้นที่เกิดเหตุกระทำขึ้นต่อหน้าจำเลยทั้งสอง หากพยานโจทก์จับพิกัดตำแหน่งพื้นที่ไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองก็น่าจะโต้แย้งคัดค้าน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด กลับให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าเข้าทำกินในที่เกิดเหตุ 12 ไร่ แต่ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 กลับเบิกความลอย ๆ ว่าที่เคยแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าเข้าทำกิน 10 ไร่ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้รังวัดพื้นที่ เมื่อรังวัดพื้นที่ทำกินแล้วมีเนื้อที่เพียง 6 ถึง 7 ไร่ โดยไม่ได้อ้างส่งหลักฐานหรืออ้างถึงผู้รังวัดหรือนำตัวบุคคลดังกล่าวมาเบิกความยืนยันต่อศาล จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เบิกความถึงจำนวนเนื้อที่ที่บุกรุก แต่เมื่อพิจารณาจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การไว้ว่า เช้าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มาขอให้ไปขับรถไถที่ไร่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 บอกว่าได้ไถพรวนพื้นที่ที่เป็นที่ราบแล้ว 20 กว่าไร่ เหลือพื้นที่ลาดเอียงที่ไม่กล้าไถพรวนเอง จำเลยที่ 2 จึงตกลงไปขับรถไถพรวนที่ดินได้ 1 ไร่เศษ ก็ถูกจับกุม ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเข้าทำกินเพียง 6 ถึง 7 ไร่ ส่วนเครื่องพ่นยาฆ่าหญ้า 2 เครื่อง ที่พบบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นของตน ต้นกะหล่ำปลีที่พยานโจทก์พบโตเท่า ๆ กันเชื่อว่าปลูกในคราวเดียวกัน ภาพจากแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏภาพชาวบ้านเข้าไปปลูกต้นกะหล่ำปลี จำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า เป็นภาพบุตรชายของตนที่ร่วมกับชาวบ้านปลูกต้นกะหล่ำปลีในที่เกิดเหตุ ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า มีผู้เข้าทำกินในพื้นที่เกิดเหตุ 7 ราย โดยแบ่งพื้นที่แยกกันเป็นสัดส่วน ก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุถึง 3 ครั้ง ไม่เคยพบชาวบ้านอื่นนอกจากจำเลยทั้งสองกับครอบครัว และได้ความเพิ่มเติมจากพยานโจทก์ปากนายปรีชา หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลืองมีหน้าที่ดูแลรักษาผืนป่าอีกว่า พื้นที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลืองประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของพยาน เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม พยานจึงร่วมกับชาวบ้าน บ้านแม่สะต๊อก หมู่ที่ 3 ท้องที่เกิดเหตุ ปลูกป่าตามโครงการเฉลิมพระเกียรติพระราชินี เมื่อปี 2552 ต่อมาชาวบ้านหมู่บ้านปางอุ๋ง หมู่บ้านปางเพียะและหมู่บ้านแม่สะต๊อกขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่ทำกิน พยานเข้าไกล่เกลี่ยและประชุมตกลงร่วมกันว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุกที่เกิดเหตุ และหลังจากมีการปลูกป่าแล้ว พยานเข้าตรวจพื้นที่เป็นระยะ ๆ ไม่พบว่ามีบุคคลใดบุกรุกเข้าไปในพื้นที่จนเกิดเหตุคดีนี้ สอดคล้องกับที่นายบุญทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่สะต๊อก เบิกความว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ปลูกป่าแล้วไม่มีผู้ใดบุกรุกที่เกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุโดยตรงและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ขณะที่นายว่าง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเข้าทำกินในที่เกิดเหตุเบิกความต่อศาลไม่อยู่กับร่องกับรอย หาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนนายดั้ง พยานจำเลยทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความตอบศาลถามว่า เคยเข้าไปทำกินในที่เกิดเหตุเมื่อปี 2546 จากนั้นไม่เคยเข้าไปอีก ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์เชื่อมโยงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุเป็นเนื้อที่ 62 ไร่ 25 ตารางวา พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า นายบุญเลิศพยานโจทก์ซึ่งผ่านการอบรมการประเมินค่าเสียหายกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติได้เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และได้เปรียบเทียบพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายกับพื้นที่ป่าอย่างละเอียด คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 6,555,114 บาท ซึ่งเมื่อคำนึงถึงพื้นที่เกิดเหตุที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารอยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งมีคุณค่าต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่จำเลยทั้งสองฎีกาเพียงว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเป็นเนื้อที่เพียง 12 ไร่ จึงไม่อาจรับฟังว่ามีค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 6,555,114 บาท โดยมิได้โต้แย้งว่าการรับฟังพยานหลักฐานและข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่วนนี้ไม่ถูกต้องเช่นไร ที่ถูกต้องเป็นเช่นไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่มซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ โดยเมื่อปี 2552 เจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านร่วมกันปลูกป่าทดแทนเพื่อสงวนรักษาไว้เป็นป่าต้นน้ำ จำเลยที่ 1 เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ควรมีจิตสำนึกที่จะสงวนรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธารอันเป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ราษฎรในหมู่บ้าน แต่กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้รถแทรกเตอร์แผ้วถาง ไถพรวนพื้นที่เกิดเหตุเพื่อยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ปลูกต้นกะหล่ำปลี และใช้สารเคมีพ่นฆ่าหญ้า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติของป่าที่กำลังฟื้นตัว เป็นเนื้อที่มากถึง 62 ไร่ 25 ตารางวา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ปิดป้ายแสดงเขตชัดเจนแล้วว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง โทษจำคุก 5 ปี ที่ศาลล่างลงแก่จำเลยทั้งสองก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารอยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวรวมเนื้อที่ 62 ไร่ 25 ตารางวา อันเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง และวรรคสอง (3) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีจึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง และมาตรา 31 วรรคสอง (3) แต่ในระหว่างความผิดฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 31 วรรคสอง กับฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 วรรคสอง เพียงบทเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองเฉพาะตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) มานั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสองและมาตรา 31 วรรคสอง (3) ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต กับฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ก่อสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในป่าสงวนแห่งชาติก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)96/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดฮอด ผู้ร้อง - บริษัท ส. จำเลย - นาย ร. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ปรีชา เชิดชู ทรงพล สงวนพงศ์ ปุณณะ จงนิมิตรสถาพร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดฮอด - นายอุชาติ เธียรพรานนท์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางสาววรรณดี วิไลรัตน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE