สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 222, 386, 420, 421, 438

++ เรื่อง เครื่องหมายการค้า ละเมิด ++

++ ทดสอบทำงานใด้วยระบบ CW เพื่อค้นหาจข้อมูลทาง online เท่านั้น ++

++ ต้นฉบับต้องแปะภาพ ++

++

++ การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ย่อมต้องพิจารณาให้ได้ความว่าจำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงตามที่โจทก์ฟ้อง

++ขณะที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อและประทับตราบริษัทจำเลยที่ 2ลงในหนังสือสัญญา จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว การนำเครื่องหมายการค้ารูปมดดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใด ๆ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้ การที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่อาจเล็งเห็นได้ว่าหากโจทก์ทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใดและนำสินค้านั้นออกจำหน่าย ย่อมอาจถูกจับในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวได้ การออกหนังสือให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็ต้องได้ความว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองด้วย

++การที่บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ค้างชำระจากโจทก์ทั้งสองนั้นโดยทั่วไปถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ก็อาจจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้หากจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว

++ คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2542 โดยวินิจฉัยว่า "เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว (โจทก์ทั้งสอง)ประกอบกับกรณีที่โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2) ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปจากโจทก์และไม่ส่งมอบเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ดังฟ้อง" ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลฎีกาเชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก็มิได้หมายความว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเป็นการนำความเท็จมาฟ้อง แต่เป็นเรื่องโจทก์ในคดีดังกล่าวนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปแล้วไม่ชำระค่าสินค้าดังที่บรรยายไว้ในคำฟ้อง ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในระยะแรก ๆ ที่โจทก์ทั้งสองรับสินค้าจากจำเลยทั้งสองมาจำหน่าย จำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งนายนิรันดร์ ทศพรทรงไชย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาช่วยโจทก์ทั้งสองขายด้วย โจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1มาติดพันโจทก์ที่ 1 ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 1 รักใคร่ชอบพอโจทก์ที่ 1ฉันชู้สาว ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ลูกค้ากับผู้ค้าตามปกติ โจทก์ที่ 1 เองก็มาเบิกความแต่เพียงว่าโจทก์ที่ 1ซื้อกาวลาเท็กซ์จากจำเลยที่ 2 มาขาย แต่ไม่เคยเป็นตัวแทน และไม่เคยค้างชำระค่าสินค้าแก่จำเลยที่ 2 แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้ามาแสดงเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตโดยนำเอาความเท็จไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การที่บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรามดแดงคือเครื่องหมายการค้า * ซึ่งใช้กับสินค้าประเภทกาวลาเท็กซ์ประสงค์จะยกให้โจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ทั้งสองรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว เพื่อตั้งโรงงานผลิตกาวออกจำหน่าย โดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรามดแดงที่แท้จริง จึงตกลงทำสัญญาให้และรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า ตามสำเนาหนังสือสัญญาท้ายคำฟ้อง หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์ทั้งสองลงทุนปรับปรุงอาคารเป็นโรงงานผลิตกาวและซื้อเครื่องจักรมาผลิตกาวออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าตรามดแดงต่อมาวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ บริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรามดแดงที่แท้จริงนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับโจทก์ทั้งสอง เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่โจทก์ทั้งสองว่า กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า และยึดสินค้ากาวลาเท็กซ์ตรามดแดงไปจำนวน ๑๐๐ ถัง โจทก์ทั้งสองจึงทราบว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตรามดแดงและไม่มีสิทธิที่จะให้โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลอื่นรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๘จำเลยทั้งสองยังร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองอีก คือจำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๓๖๘/๒๕๓๘เรื่อง เพิกถอนตัวแทน ให้ชำระเงินคืนและเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้แต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ากาวลาเท็กซ์ตรามดแดง ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิต โจทก์ทั้งสองนำสินค้ากาวลาเท็กซ์ไปจำหน่ายได้เงินจำนวน ๒๙,๖๐๐,๐๐๐ บาท คำฟ้องของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองไม่เคยเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองในการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตกาวตรามดแดงเป็นเงินจำนวน๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ค่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตกาวเป็นเงินจำนวน๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท กาวลาเท็กซ์ของโจทก์ทั้งสองถูกเจ้าพนักงานยึดไปเป็นของกลางจำนวน ๑๐๐ ถัง เป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเสียเครดิตในทางการค้า โจทก์ที่ ๑ ขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินจำนวน๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ เสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้า ทำให้ขาดรายได้ โจทก์ที่ ๒ ขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๒๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๒๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย โจทก์ทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ เท่านั้นจำเลยที่ ๒ ผลิตสินค้ากาวลาเท็กซ์ออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดแดง เมื่อปลายปี ๒๕๓๓ จำเลยที่ ๑ มีความประสงค์ให้โจทก์ที่ ๑ตั้งตัวได้ จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ จึงจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์ที่ ๒ต่อมาจำเลยทั้งสองแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายกาวลาเท็กซ์ตรามดแดงของบริษัทจำเลยที่ ๒ แก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปซึ่งทำรายได้ให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวนมาก โจทก์ทั้งสองจึงมีความประสงค์จะตั้งโรงงานผลิตกาวเป็นของตนเอง จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ จึงทำหนังสือสัญญาให้และรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายจัดพิมพ์หนังสือสัญญาและขอร้องให้จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจะนำหนังสือสัญญาดังกล่าวไปแสดงต่อเครือญาติของโจทก์ที่ ๑ เพื่อให้เกิดความศรัทธาและอาจให้การเกื้อหนุนต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรมดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงอันเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ การปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นโรงงานและการจัดซื้อเครื่องจักรมาผลิตกาวก็เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งปัจจุบันโจทก์ทั้งสองยังคงผลิตกาวลาเท็กซ์ใช้เครื่องหมายการค้า เค.เอส. ออกจำหน่ายแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง ส่วนสินค้ากาวลาเท็กซ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไปมีจำนวน ๑๐๐ ถัง น้ำหนักสุทธิประมาณ ๕ ตัน คิดเป็นเงินจำนวนเพียง๑๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น ที่จำเลยทั้งสองฟ้องคดีขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระราคาค่าสินค้าตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๓๖๘/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อปี ๒๕๑๙ มีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกาวลาเท็กซ์โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปมดแดงอยู่ในวงกลมคือเครื่องหมายการค้า* ในปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๒ และบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปมดคือเครื่องหมายการค้า * ต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปมดเหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวโดยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในเวลาใกล้เคียงกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่ยอมรับจดทะเบียนโดยให้จำเลยที่ ๒ และบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ไปทำความตกลงกันหรือนำคดีไปสู่ศาล ต่อมาทั้งจำเลยที่ ๒ และบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ต่างยื่นฟ้องซึ่งกันและกัน โดยต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปมดดังกล่าวและมีสิทธิดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๘๔-๘๘๕/๒๕๓๖ วินิจฉัยว่า บริษัทโสภณพัฒนา จำกัด มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปมดดีกว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑รู้จักกับโจทก์ที่ ๑ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๐ ในปี ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท พี.เค.วี.จำกัด และประกอบกิจการโต๊ะสนุกเกอร์โดยให้โจทก์ที่ ๑ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทด้วยผู้หนึ่งและมอบหมายให้โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จัดการกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ด้วย บริษัท พี.เค.วี. จำกัดดำเนินกิจการได้ประมาณ ๑ ปี ก็เลิกกิจการ ปี ๒๕๓๓ โจทก์ที่ ๑ ได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทโจทก์ที่ ๒ และประกอบกิจการผลิตสินค้าพื้นเมืองส่งไปขายยังต่างประเทศ โดยโจทก์ที่ ๑ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งและจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน ๕๐๐ หุ้น ต่อมาปี ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑แนะนำโจทก์ที่ ๑ ให้รับกาวลาเท็กซ์ของจำเลยที่ ๒ ไปจำหน่ายหารายได้โดยลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ โจทก์ทั้งสองตกลงรับกาวลาเท็กซ์ของจำเลยที่ ๒ มาจำหน่ายตลอดมา ต่อมาในปี ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ได้ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ที่ ๒ ใช้เครื่องหมายการค้าตรามดแดงของจำเลยที่ ๒ คือเครื่องหมายการค้า * ซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้า * ของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด เพื่อผลิตกาวลาเท็กซ์ออกจำหน่ายได้ ตามหนังสือสัญญาให้และรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๑๙ แผ่นที่ ๑ โดยที่จำเลยที่ ๒ ยังคงผลิตกาวลาเท็กซ์ตรามดแดงออกจำหน่ายเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงทำการผลิตกาวลาเท็กซ์ออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าตรามดแดง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์๒๕๓๘ บริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้ร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานของโจทก์ทั้งสองและได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า * ของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑ ทั้งจำพวกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน๒๕๒๘ ตามสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๒๒ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่าสินค้ากาวลาเท็กซ์ที่รับไปจากจำเลยที่ ๒คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๘/๒๕๔๒ เอกสารท้ายคำแถลงของโจทก์ทั้งสอง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม๒๕๔๒ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าตรามดแดง ซึ่งความจริงจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองลงทุนสร้างโรงงานผลิตกาวลาเท็กซ์ออกขายและต่อมาถูกเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาให้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์-ทั้งสองเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันว่า จำเลยทั้งสองประกอบกิจการค้าผลิตกาวลาเท็กซ์โดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดแดงออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ต่อมาในปี ๒๕๒๘ ได้มีกรณีพิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปมดระหว่างจำเลยที่ ๒ กับบริษัทโสภณพัฒนา จำกัดมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันในศาลจนถึงปี ๒๕๓๖ และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๘๔-๘๘๕/๒๕๓๖ เอกสารหมาย จ.๗ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทโสภณพัฒนา จำกัด มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปมดดีกว่าจำเลยที่ ๒ และบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปมดคือเครื่องหมายการค้า * แล้ว แต่อย่างไรก็ดีแม้จำเลยที่ ๒ จะแพ้คดีและไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดดังกล่าวแล้วแต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงผลิตกาวลาเท็กซ์โดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดแดงออกจำหน่ายอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ ๑ รู้จักและสนิทสนมกับโจทก์ที่ ๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ช่วยเหลือโจทก์ที่ ๑ มาโดยตลอด มีการจัดตั้งบริษัท พี.วี.เค. จำกัด โดยประกอบกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ และให้โจทก์ที่ ๑เป็นกรรมการผู้จัดการและบริหารงาน ต่อมาในปี ๒๕๓๓ โจทก์ที่ ๑ ก่อตั้งบริษัทโจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ก็เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นด้วยจำนวน ๕๐๐ หุ้นโจทก์ที่ ๒ ประกอบกิจการผลิตสินค้าพื้นเมืองส่งขายยังต่างประเทศและในปี ๒๕๓๔ โจทก์ทั้งสองได้รับสินค้ากาวลาเท็กซ์ของจำเลยทั้งสองมาจำหน่าย ทำให้โจทก์ทั้งสองมีรายได้เพิ่มขึ้น โจทก์ที่ ๑ เบิกความว่าเมื่อประมาณวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๗ โจทก์ที่ ๑ บอกเลิกการคบค้าสมาคมกับจำเลยที่ ๑ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑โทรศัพท์มาบอกว่าจะเลิกกิจการแล้ว แต่ยังเสียดายเครื่องหมายการค้าตรามดแดง ประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสองใช้ผลิตกาวลาเท็กซ์จำหน่ายต่อไปซึ่งความจริงจำเลยที่ ๑ หลอกลวงโจทก์ที่ ๑ เพื่อจะให้โจทก์ที่ ๑ เสียค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งโรงงานและต้องถูกจับไปดำเนินคดี โดยมีสาเหตุมาจากการที่โจทก์ที่ ๑ บอกเลิกคบกับจำเลยที่ ๑ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองรับกาวลาเท็กซ์จากจำเลยทั้งสองมาจำหน่ายมีรายได้ดี หากจำเลยที่ ๑ไม่พอใจโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ก็น่าจะเพียงไม่จัดส่งสินค้าไปให้โจทก์ทั้งสองจำหน่าย ตามหนังสือสัญญาให้และรับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๑๙ แผ่นที่ ๑ ก็มิได้ระบุเป็นเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งสองจะต้องตั้งโรงงานด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ มิได้มุ่งประสงค์ถึงขนาดให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตั้งโรงงานผลิตกาวลาเท็กซ์แต่อย่างใด ทั้งตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก็มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ยินยอมให้บริษัทโจทก์ที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๑ใช้เครื่องหมายการค้า * ยี่ห้อ และสูตรการผสมผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ ได้ในสินค้าที่โจทก์ที่ ๒ ผลิตขึ้นในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแสดงว่าการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโจทก์ที่ ๒ ไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆแก่จำเลยที่ ๒ นอกจากนี้โจทก์ที่ ๑ ยังเบิกความรับว่าตนเป็นผู้ติดต่อนายสุรพล กังวาลสุรกิจ มาเป็นผู้ร่างสัญญาตามเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ร่างหรือเตรียมร่างสัญญามาแล้วกรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ดังที่จำเลยที่ ๑ เบิกความว่า โจทก์ที่ ๑มีความประสงค์จะตั้งโรงงานผลิตกาวลาเท็กซ์และต้องการให้จำเลยที่ ๑ออกหนังสือให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปแสดงต่อพี่ชายโจทก์ที่ ๑ และขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากพี่ชายโจทก์ที่ ๑จำเลยที่ ๑ มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับโจทก์ที่ ๑ อยู่แล้ว จึงยินยอมออกหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ ให้แก่โจทก์ทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ขณะที่จำเลยที่ ๑ ลงชื่อและประทับตราบริษัทจำเลยที่ ๒ ลงในหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ นั้น จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าบริษัทจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว การนำเครื่องหมายการค้ารูปมดดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใด ๆ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้ การที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ที่ ๒ ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นกรณีที่อาจเล็งเห็นได้ว่าหากโจทก์ทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใดและนำสินค้านั้นออกจำหน่าย ย่อมอาจถูกจับในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวได้ การออกหนังสือให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็ต้องได้ความว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างปรับปรุงโรงงานผลิตกาว เป็นเงินจำนวน๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท และจัดซื้อเครื่องจักรในการผลิตกาวจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองออกหนังสือสัญญาให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ ให้แก่โจทก์ทั้งสอง เพราะแม้ไม่มีหนังสือสัญญาให้ใช้สิทธิดังกล่าวโจทก์ทั้งสองก็มีความประสงค์จะสร้างโรงงานผลิตกาวออกจำหน่ายอยู่แล้วเพียงแต่ต้องจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ไม่ใช่รูปมดของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด โจทก์ที่ ๑ เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านรับว่า หลังจากถูกจับและถูกดำเนินคดีในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้ารูปมดที่ได้รับการจดทะเบียนของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด และจำหน่ายสินค้ากาวที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนแบบดังกล่าวแล้ว โรงงานของโจทก์ทั้งสองยังคงผลิตกาวลาเท็กซ์ออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าอื่น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงการก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรในการผลิตกาวลาเท็กซ์จึงไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงของโจทก์ทั้งสองอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและนำสืบถึงความเสียหายเนื่องจากโจทก์ที่ ๑ ถูกจับและโจทก์ทั้งสองถูกดำเนินคดี ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกยึดกาวเป็นของกลางจำนวน ๑๐๐ ถัง ราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ ที่เบิกความรับว่า เมื่อวันที่ ๒๓มกราคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ที่ ๑ จะถูกจับและโจทก์ทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวประมาณ ๑ เดือน นั้น โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือจากทนายความของบริษัทจำเลยที่ ๒ ห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายกาวลาเท็กซ์ตรามดแดงของจำเลยที่ ๒ หรือปิดสลากใช้ชื่อว่าจำเลยที่ ๒เป็นผู้ผลิตอีกต่อไป ตามสำเนาหนังสือของทนายความเอกสารหมาย จ.๓ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนรูปมดของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด กับสินค้ากาวลาเท็กซ์ที่ผลิตออกจำหน่ายอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการที่จำเลยที่ ๒ ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองยังคงผลิตกาวลาเท็กซ์ออกจำหน่ายในนามของจำเลยที่ ๒ แล้วถูกบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี จึงหาใช่ผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๑๙แผ่นที่ ๑ ไม่ ความเสียหายจากการที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียชื่อเสียงและถูกยึดกาวจำนวนหนึ่งจึงไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จริงอยู่การที่บริษัทจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ ๒ แก่บริษัทโจทก์ที่ ๒ โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นโดยไม่บอกข้อความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองอาจทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องมาเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายตามคำฟ้องได้

ส่วนปัญหาว่า การที่จำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนรับสินค้ากาวลาเท็กซ์จากจำเลยที่ ๒ไปจำหน่ายแล้วไม่ชำระราคาสินค้า ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินค้า ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง ถือเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ นั้น เห็นว่า การที่บริษัทจำเลยที่ ๒โดยจำเลยที่ ๑ เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ค้างชำระจากโจทก์ทั้งสองนั้นโดยทั่วไปถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ก็อาจจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้หากจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๘/๒๕๔๒ โดยวินิจฉัยว่า "เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว (โจทก์ทั้งสอง)ประกอบกับกรณีที่โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ ๒) ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปจากโจทก์และไม่ส่งมอบเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ดังฟ้อง" ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลฎีกาเชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก็มิได้หมายความว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเป็นการนำความเท็จมาฟ้อง แต่เป็นเรื่องโจทก์ในคดีดังกล่าวนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปแล้วไม่ชำระค่าสินค้าดังที่บรรยายไว้ในคำฟ้อง ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในระยะแรก ๆ ที่โจทก์ทั้งสองรับสินค้าจากจำเลยทั้งสองมาจำหน่าย จำเลยที่ ๑ ก็ได้ส่งนายนิรันดร์ ทศพรทรงไชย ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มาช่วยโจทก์ทั้งสองขายด้วย โจทก์ที่ ๑ เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ ๑มาติดพันโจทก์ที่ ๑ ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ ๑ รักใคร่ชอบพอโจทก์ที่ ๑ฉันชู้สาว ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่ลูกค้ากับผู้ค้าตามปกติ โจทก์ที่ ๑ เองก็มาเบิกความแต่เพียงว่าโจทก์ที่ ๑ซื้อกาวลาเท็กซ์จากจำเลยที่ ๒ มาขาย แต่ไม่เคยเป็นตัวแทน และไม่เคยค้างชำระค่าสินค้าแก่จำเลยที่ ๒ แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้ามาแสดงเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตโดยนำเอาความเท็จไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การที่บริษัทจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน๑๐,๐๐๐ บาท แทนจำเลยทั้งสอง.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาวกรุณี เศวตวิลาศ กับพวก จำเลย - นายปรีชา ติยานนท์ กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุวัฒน์ วรรธนะหทัย มงคล คุปต์กาญจนากุล ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายปกรณ์ วงศาโรจน์ ศาลอุทธรณ์ - นายชวลิต ตุลยสิงห์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th