คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1606 (1)
แม้คดีนี้โจทก์นำสืบในทำนองว่า น. มีส่วนร่วมวางแผนกับคนร้ายที่ฆ่าผู้ตาย และฎีกาว่า น. จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย แต่ได้ความว่า น. ถึงแก่ความตายหลังผู้ตาย 2 วัน และไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกคือผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1606 (1) การที่มีผู้ลงบทความเรื่องคำรับสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหารในเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 ในคดีของศาลอาญา ให้การรับสารภาพว่า น. เป็นคนใช้จ้างวานให้ตนไปฆ่าผู้ตาย ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ยุติโดยคำพิพากษา และ น. มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการพิสูจน์ว่า น. เป็นผู้ร่วมฆ่าผู้ตายโดยเจตนาหรือไม่ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 1606 (1) ดังกล่าว น. จึงไม่เป็นบุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย และย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7547, 7710, 7801, 7803 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครอง กว้าง 25.5 เมตร ยาว 32 เมตร รวมเนื้อที่ 204 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เลขที่ 28, 30, 32, 34 แก่โจทก์ และ/หรือให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงข้างต้น ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน ของเนื้อที่ดินทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยหรือไม่อาจปฏิบัติได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 114,299,598 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามฟ้องข้อ 2.1.2, 2.1.3, 3.9.1 และ 3.9.2 รวม 14 โฉนด ให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 4 ส่วน และ/หรือให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงข้างต้นในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 4 ส่วน หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และ/หรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 182,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกในส่วนของที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2.1 จำนวน 153 โฉนด ให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน หรือให้ประมูลซื้อกันระหว่างทายาท และ/หรือให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 153 โฉนด ข้างต้น ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และ/หรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 278,538,749 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันแบ่งปันทรัพย์มรดกในส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2, 2.2.3 และ 2.2.4 ทั้งหมดให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน หรือให้ประมูลซื้อกันระหว่างทายาทหรือขายทรัพย์ดังกล่าวแล้วนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน ของเงินที่ได้ทั้งหมด หรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 93,775,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนายไชยศิริ ผู้ตาย จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7547, 7710, 7801, 7803 ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.1.1 และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 9 โฉนด ตามฟ้องข้อ 2.1.2 และ 2.1.3 ให้แก่โจทก์ ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน และ 1 ส่วน ใน 4 ส่วน ตามลำดับ หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม แต่หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินสำหรับที่ดินจำนวน 9 โฉนด ตามฟ้องข้อ 2.1.2 และ 2.1.3 จำนวน 93,815,962.50 บาท กับให้แบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินจำนวน 150 โฉนด ตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2 ข้อ 2.2.3 และข้อ 2.2.4 ให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้ประมูลซื้อทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2 ลำดับที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 11 และข้อ 2.2.3 และข้อ 2.2.4 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม หากตกลงประมูลราคากันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว แล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน แต่หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และข้อ 2.2.2 จำนวน 41,654,307.10 บาท และจำนวน 750,000 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 51,962,771.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนายไชยศิริ ผู้ตาย จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7547, 7710, 7801, 7803 ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.1.1 และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 9 โฉนด ตามฟ้องข้อ 2.1.2 และ 2.1.3 ให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 10 ส่วน และ 1 ส่วน ใน 5 ส่วน ตามลำดับ หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม แต่หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินสำหรับที่ดินจำนวน 9 โฉนด ตามฟ้องข้อ 2.1.2 และ 2.1.3 จำนวน 75,052,770 บาท กับให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินจำนวน 150 โฉนด ตามคำฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2 ข้อ 2.2.3 และข้อ 2.2.4 ให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 10 ส่วน หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้ประมูลซื้อทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2 และข้อ 2.2.3 และข้อ 2.2.4 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม หากตกลงประมูลราคากันไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว แล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 10 ส่วน แต่หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.2 ถึง 2.2.1.12) และข้อ 2.2.2 จำนวน 41,654,307.10 บาท และจำนวน 1,350,000 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 3 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไชยศิริ ผู้ตายซึ่งมีบุตรด้วยกัน 4 คน คือนายนิรันดร โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ตายประกอบธุรกิจต่าง ๆ เช่น กิจการโรงแรม ป. โรงแรมม่านรูด ว. สถานบริการอาบ อบ นวด ไนต์คลับ โรงงานผลิตน้ำแข็งและโรงเลื่อยจักร ที่จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นนักการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี หลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม และต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2539 นายนิรันดรถึงแก่ความตาย โดยไม่มีภริยาและบุตร ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับสังหาริมทรัพย์อื่นจำนวนหลายรายการ รวมทั้งมีหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนมากกว่า 300,000,000 บาท วันที่ 15 มกราคม 2540 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 2159/2539 หมายเลขแดงที่ 12/2540 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนขายที่ดินจำนวน 93 แปลง ที่ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตามฟ้องข้อ 2.1.1. ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 196,923,085.47 บาท และวันที่ 12 มกราคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนขายที่ดินจำนวน 3 แปลงและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นแฟลตหลังโรงแรม ป. จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.1.2 ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 7,000,000 บาท และวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนขายที่ดินจำนวน 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 8 คูหา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุริยาตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.1.4 ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 47,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายรวมสองโฉนด วันที่ 9 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ส่งเงินและทรัพย์สินคืนแก่กองมรดกของผู้ตายและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตาย วันที่ 24 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้โจทก์ทราบ ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2558 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลอาญา ข้อหายักยอกทรัพย์มรดก ตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.2678/2558 ของศาลอาญา และยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีในคดีหมายเลขดำที่ 2159/2539 หมายเลขแดงที่ 12/2540 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ขอถอนจำเลยทั้งสามออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลนัดไกล่เกลี่ยหรือนัดไต่สวนคำร้อง โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันได้ในทรัพย์มรดกของผู้ตายบางส่วน ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2.1 (2.2.1.1 ถึง 2.2.1.12) ทรัพย์สินประเภทพระเครื่อง พระบูชา ตามฟ้องข้อ 2.2.3 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 6 และรถยนต์ลำดับที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อ 2.2.4 เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 3 กับผู้ตาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตายสัดส่วนเท่าใด โดยโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้โจทก์มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย 1 ใน 5 ส่วน กรณีเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย กับให้โจทก์ได้รับ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 นั้นไม่ชอบ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งเห็นว่า คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างนำสืบข้อเท็จจริงรับกันว่า ผู้ตายกับจำเลยที่ 3 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือนายนิรันดร โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับนายนิรันดรถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายโดยไม่มีคู่สมรสและผู้สืบสันดาน ดังนั้น ปัญหาว่าทายาทโดยธรรมของผู้ตายแต่ละคนมีสิทธิรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายในสัดส่วนเท่าใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยทั้งสามได้หยิบยกขึ้นอุทธรณ์ด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่โจทก์ไม่ถูกต้อง และฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้หรือจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองก็ได้เช่นกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบกับมาตรา 246 แม้คดีนี้โจทก์นำสืบในทำนองว่านายนิรันดรมีส่วนร่วมวางแผนกับคนร้ายที่ฆ่าผู้ตาย และฎีกาว่านายนิรันดรจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายแต่ได้ความว่านายนิรันดรถึงแก่ความตายหลังผู้ตาย 2 วัน และไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกคือผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1606 (1) การที่มีผู้ลงบทความเรื่องคำรับสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหารในเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ 4220/2539 หมายเลขแดงที่ 4815/2539 ของศาลอาญา ให้การรับสารภาพว่านายนิรันดรเป็นคนใช้จ้างวานให้ตนไปฆ่าผู้ตาย ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ยุติโดยคำพิพากษา และนายนิรันดรมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการพิสูจน์ว่านายนิรันดรเป็นผู้ร่วมฆ่าผู้ตายโดยเจตนาหรือไม่ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 1606 (1) ดังกล่าว นายนิรันดรจึงไม่เป็นบุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย และย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่งในจำนวน 5 คน อันได้แก่ จำเลยที่ 3 โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง, 1633 และมาตรา 1635 (1) เมื่อนายนิรันดรถึงแก่ความตายโดยไม่มีคู่สมรสและผู้สืบสันดานสิทธิในการรับมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังจำเลยที่ 3 ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาสัดส่วนในสิทธิของทายาทโดยธรรมที่จะรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปของโจทก์มีว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถนนลาดพร้าวซอย 101 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จำนวน 93 แปลงตามฟ้องข้อ 2.1.1. เป็นของบริษัท ท. หรือบริษัทนั้นถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตายและโจทก์มีสิทธิขอแบ่งเงินจากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใดเห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องบริษัท ท. เป็นจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 93 แปลง แทนผู้ตาย แล้วนำออกขายแก่บุคคลภายนอกในราคา 196,923,083.47 บาทโดยชำระเงิน 2,268,000 บาท แก่โจทก์ อ้างว่าเป็นเงินปันผล ทั้งมิได้นำเงินส่วนที่เหลือคืนกองมรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินแก่โจทก์ 49,230,771.37 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.5179/2559 หมายเลขแดงที่ 4072/2560 ของศาลแพ่งศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยเป็นใจความว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดก่อนโอนให้แก่บริษัท ศ. เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย มิใช่ของบริษัท ท. จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นคดีนี้ และศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินเท่ากับสิทธิที่โจทก์พึงได้ตามส่วนจากที่ดินพิพาทในทรัพย์มรดกเดียวกันแล้ว จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอกับพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาททั้งเก้าสิบสามแปลงย่อมเป็นคุณแก่โจทก์จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัททองคูณ จำกัด กับในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ที่ดินพิพาททั้งหมดตามข้อฟ้อง 2.1.1. จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อมีการขายให้แก่บุคคลภายนอกจึงต้องนำมาแบ่งแก่ทายาททุกคน ซึ่งในข้อนี้จำเลยทั้งสามฎีกาด้วยว่าทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.1 อันได้แก่ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ถึงข้อ 2.1.4 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน ในข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวจิราภา น้องของผู้ตาย เบิกความทำนองเดียวกันว่า ผู้ตายเป็นบุตรคนโตของนายวุฒิพงษ์ กับนางทองพูน มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 10 คน ได้แก่ นายประสาน นางสุดาวรรณหรือจุฑามาศ นางสาวจิราภา นายธัญญพฤกษ์ นางดวงพันธ์ นางดวงพร นพคุณ นายกำชัย นางจินตนา นายสมบูรณ์ และนายสมจิต นายวุฒิพงษ์เป็นคนเชื้อชาติและสัญชาติจีน เดินทางเข้าอยู่ในประเทศไทยขณะอายุ 20 ปี เริ่มแรกประกอบอาชีพขายของชำ ผลไม้ และสินค้าหลายอย่าง ในปี 2475 จึงได้แต่งงานกับนางทองพูนซึ่งเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นประมาณ 5 ถึง 6 ปี นายวุฒิพงษ์ประมูลโรงฝิ่นจากรัฐบาลได้ 3 แห่ง ที่จังหวัดนครราชสีมา 2 แห่ง จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง เมื่อปี 2488 นายวุฒิพงษ์ประมูลสัมปทานโรงต้มกลั่นสุราจากรัฐบาลได้ 1 แห่งที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วประมูลสัมปทานโรงต้มกลั่นสุราได้อีก 1 แห่ง ที่จังหวัดชัยภูมิในปี 2493 ถึงปี 2494 นายวุฒิพงษ์เปิดกิจการโรงเลื่อยจักรบริษัท ต. ที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี และขยายกิจการออกไปที่อำเภอเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ (ในขณะนั้น) และอำเภอพิบูลมังสาหาร ในปี 2500 นายวุฒิพงษ์กับนางทองพูนเปิดกิจการโรงแรม อ. ที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีและได้รับสัญชาติไทยในปี 2509 จากนั้นปี 2513 จึงซื้อที่ดินและปลูกสร้างโรงแรม ป. จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มเปิดกิจการเมื่อปี 2516 แล้วปิดกิจการลงเมื่อปลายปี 2558 เพราะเกิดเหตุไฟไหม้โรงแรม ประมาณปี 2514 นายวุฒิพงษ์และนางทองพูน นำเงินของกงสีไปซื้อที่ดินบริเวณรองเมือง ซอย 4 กรุงเทพมหานครโดยประกอบกิจการโรงแรม ท. ปี 2518 ประมูลสัมปทานโรงต้มกลั่นสุราในนามบริษัท ต. ที่จังหวัดนครพนม และเปิดกิจการโรงน้ำแข็ง อ. อีก 2 แห่งที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุรินทร์ กิจการต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นของตระกูลหรือที่เรียกว่ากิจการกงสี ดังนั้น รายได้ของกิจการต่าง ๆ จะส่งเข้ามาที่แผนกการเงินของกงสีใหญ่ ที่กรุงเทพมหานคร ค่าใช้จ่ายของคนในครอบครัวทุกคนจะเบิกจ่ายจากกงสีซึ่งนางสาวจิราภาเป็นผู้ดูแลการเงินและบัญชีของกงสี การนำเงินจากกงสีไปซื้อที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุตรทุกคนเป็นการถือแทนกงสีของนายวุฒิพงษ์และนางทองพูนมอบให้บุตรแต่ละคนแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลบริหารกิจการกงสี ในส่วนของผู้ตายที่เป็นบุตรชายคนโตได้รับมอบให้ดูแลกิจการทั้งหมดในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ โรงเลื่อยจักรบริษัท ต. โรงน้ำแข็ง อ. โรงแรม อ.โรงแรม ป. รวมทั้งห้องอาหาร กิจการ-อาบอบนวด ไนต์คลับและดิสโกเทก เมื่อปลายปี 2531 ถึงปี 2532 นายวุฒิพงษ์และนางทองพูนแบ่งทรัพย์สินให้บุตรทุกคน ผู้ตายได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด คือ กิจการต่าง ๆ พร้อมที่ดินในจังหวัดอุบลราชธานีและทรัพย์สินที่กรุงเทพมหานครบางส่วน ได้แก่ ที่ดินที่ซอยนานา ที่ดิน 93 แปลงที่ลาดพร้าวซอย 101 ที่ดินซอยอารีย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของผู้ตายและครอบครัวที่ดินสุขาภิบาล 3 (ถนนรามคำแหง) ที่ดินบริเวณบางขุนเทียน นอกจากนี้ยังแบ่งทรัพย์สินให้บุตรทุกคนซึ่งเป็นการยกให้ หลังจากนั้นผู้ตายได้มอบให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 บริหารกิจการต่อมาในรูปกงสีเช่นเดิม โดยทุกคนจะเบิกจ่ายเงินผ่านกงสี ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2505 นั้น จำเลยที่ 3 ไม่มีทรัพย์สินติดตัวมา คงทำหน้าที่เพียงเป็นแม่บ้าน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ตายซื้อมาโดยใช้เงินกงสี แต่มีชื่อจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนกงสีของตระกูลเท่านั้นส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบโดยมีจำเลยที่ 3 เบิกความว่า ก่อนจำเลยที่ 3 แต่งงานกับผู้ตายจำเลยที่ 3 ได้รับมอบทองคำทั้งหมดหนักเกือบ 100 บาท จากบิดาและมารดาบุญธรรมกับญาติของมารดาที่ให้เป็นของขวัญในปี 2506 จำเลยที่ 3 คลอดนายนิรันดรบุตรคนแรกก็ได้รับมอบทองคำหนักมากกว่า 3 กิโลกรัม จากญาติและเพื่อนที่ทำธุรกิจด้วยกันเพื่อรับขวัญบุตร ต่อมาประมาณ 3 ปี จำเลยที่ 3 กับผู้ตายนำสินสอดและทองคำทั้งหมดไปขายได้เงินมา 100,000 บาทเศษ แล้วไปซื้อกิจการโรงเลื่อยไม้ที่ลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ได้กำไรมาก จึงลงทุนซื้อสัมปทานโรงต้มกลั่นสุราที่จังหวัดนครพนม และได้กำไรมากเช่นกัน จึงไปซื้อที่ดินที่ซอยนานาสุขุมวิท 4 ที่ดินซอยอารีย์ 3 ที่ดินซอยลาดพร้าว 101 จำนวน 93 แปลง ที่ดินที่ตั้งโรงแรม ป. ที่ดินถนนสุริยาตรและที่ดินอื่นอีกหลายแปลง หลังปี 2525 ผู้ตายกับจำเลยที่ 3 ขายโรงต้มกลั่นสุราพร้อมสัมปทานให้ผู้อื่นได้เงินมา 10,000,000 บาท จึงนำเงินไปใช้ในกิจการโรงแรมและทรัพย์สินอื่นเพิ่ม ผู้ตายเป็นนักการเมืองไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้มากจึงใส่ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ เห็นว่า แม้ทรัพย์สินคือที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.4 มีชื่อผู้ตายและจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบหักล้างถึงความถูกต้องของโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชนดังกล่าวว่าผู้ตายและจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนกงสีของตระกูลได้ ซึ่งในข้อนี้นางสาวจิราภา ซึ่งเป็นน้องผู้ตายและได้รับมอบจากนายวุฒิพงษ์กับนางทองพูน ให้รับผิดชอบดูแลด้านการเงินและบัญชีของกงสีเบิกความตามลำดับความเป็นมาของครอบครัวตั้งแต่ช่วงที่นายวุฒิพงษ์เดินทางเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จนกระทั่งสมรสกับนางทองพูนแล้วประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจน สอดคล้องกับคำเบิกความของนางดวงพันธ์และนางดวงพรน้องผู้ตายที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่ากิจการของกงสีที่จังหวัดอุบลราชธานี เช่น โรงแรม ป. โรงเลื่อยจักรที่อำเภอเดชอุดมอำเภอเขมราฐ และโรงแรมม่านรูดเป็นเงินที่ผู้ตายเบิกจากกงสีมาซื้อที่ดินโดยนายวุฒิพงษ์และนางทองพูนให้ใส่ชื่อผู้ตายหรือจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนกงสีนางดวงพันธ์เป็นผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่นายวุฒิพงษ์มีอายุครบ 80 ปี ในปี 2527 ส่วนนางดวงพรจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่นางทองพูนมีอายุครบ 86 ปี ในปี 2541 โดยพยานทั้งสองรับฟังการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นคำบอกเล่าจากบิดามารดาถึงชีวิตที่คนทั้งสองร่วมบุกเบิกฝ่าฟันกันมาด้วยความเหนื่อยยาก เริ่มประสบความสำเร็จจากกิจการใด และขยายกิจการต่าง ๆ ในปีใด เป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนยากแก่การคาดเดาตกแต่งเรื่องราวของผู้บันทึกเองได้เกี่ยวกับการเริ่มก่อตั้งบริษัท ต. ในปี 2494 นั้น ก็ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสีข้าว ทำโรงน้ำแข็ง โรงเลื่อย ค้าสินค้าพื้นเมืองและของป่า กับรับเหมาประมูลทุกชนิด โดยมีชื่อนายวุฒิพงษ์หรือเป้กฮวย แซ่เตีย ถือหุ้น 394 หุ้น นางทองพูน 200 หุ้น ผู้ตายและนายประสาน ขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ก็ถือหุ้นคนละ 100 หุ้น ต่อมาในปี 2544 ยังมีชื่อนายวุฒิพงษ์ นางทองพูน และน้องผู้ตายอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น โดยไม่มีชื่อผู้ตายถือหุ้นอีกต่อไป แสดงว่ากิจการต่าง ๆ ของบริษัท ต. เป็นของกงสี ซึ่งต่อมายังจดทะเบียนตั้งบริษัทและห้างหุ้นจำกัดเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการด้านต่าง ๆ ของกงสี อาทิเช่น บริษัทพูนพงษ์ประทานจำกัด จดทะเบียนนิติบุคคลวันที่ 10 มกราคม 2516 มีชื่อนายวุฒิพงษ์ นางทองพูน ผู้ตาย จำเลยที่ 3 นายกำชัย นางดวงพร นางสาวจิราภา และนางจินตนา เป็นผู้ถือหุ้น เพื่อประกอบกิจการโรงแรม หอพักภัตตาคารและสถานบริการ มีชื่อนายวุฒิพงษ์และนางทองพูน เป็นกรรมการ ตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2532 จากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1และที่ 2 กับโจทก์เป็นกรรมการเรื่อยมาจนกระทั่งบริษัทถูกศาลสั่งให้ล้มละลายในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งในปี 2532 คือวันที่ 19 มกราคม 2532 นั้น ไม่มีชื่อนายวุฒิพงษ์ นางทองพูนและน้องผู้ตาย เป็นผู้ถือหุ้น แต่มีชื่อนายนิรันดร โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือหุ้นแทน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. จดทะเบียนนิติบุคคลในวันที่ 14 มีนาคม 2517 ก็จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลกิจการโรงแรม ด. สำหรับบริษัท ล. เดิมจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในปี 2516 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี 2520 มีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2521 ถึงปี 2536 มีชื่อนายกำชัย นายสมบูรณ์ กับบุคคลอื่นอีก 1 คนเป็นผู้ถือหุ้น จากนั้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2536 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อนายนิรันดร โจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น ในปี 2545 จึงมีชื่อของจำเลยทั้งสาม ห้างหุ้นส่วนจำกัดดอกบัวรัฐ จดทะเบียนวันที่ 9 ธันวาคม 2520 มีนายกำชัยเป็นหุ้นส่วนและผู้จัดการ ต่อมาปี 2536 ถึงปี 2545 จึงมีชื่อโจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นและผู้จัดการ กระทั่งจดทะเบียนเลิกห้างในวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ในส่วนของบริษัท ท. จดทะเบียนนิติบุคคลในปี 2522 มีชื่อผู้ตาย นายกำชัย และนางจินตนา ถือหุ้นคนละ 200 หุ้นใน 1,000 หุ้น ต่อมาปี 2544 ปรากฏชื่อผู้ตาย จำเลยทั้งสาม โจทก์ นายนิรันดร เป็นผู้ถือหุ้นรวม 4,340 หุ้น ในจำนวนทั้งหมด 4,500 หุ้น นอกจากนี้ยังมีบริษัท อ. กับห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแรม ว. จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 และวันที่ 20 ธันวาคม 2531 โดยมีเฉพาะผู้ตายและบุคคลในครอบครัวของผู้ตายเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าก่อนถึงปลายปี 2531 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวล้วนประกอบกิจการในเครือบริษัท ต. ซึ่งเป็นกงสีของตระกูล ดังที่นางสาวจิราภา นางดวงพันธ์และนางดวงพรเบิกความ พยานทั้งสามของโจทก์เป็นน้องของผู้ตายย่อมมีความใกล้ชิดกับครอบครัวและได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวจากบิดามารดาโดยไม่ปิดบังทั้งพยานโจทก์ดังกล่าวไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดซึ่งล้วนเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับผู้ตาย การจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกของนายวุฒิพงษ์กระทำขึ้นก่อนที่นายวุฒิพงษ์จะแบ่งปันทรัพยสินในกงสีให้แก่บุตรทุกคนในระหว่างปี 2531 ถึงปี 2532 โดยนางสาวจิราภาเบิกความว่าได้รับเงิน 60,000,000 บาท กับที่ดินที่มีชื่อของตนถือกรรมสิทธิ์ และอะพาร์ตเมนต์ที่ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย ที่ถือครองในนามของบริษัท ต. ส่วนของนางดวงพันธ์นางดวงพร นางจุฑามาศและนางจินตนา ได้รับเงินคนละ 30,000,000 บาท นายประสานได้รับกิจการโรงแรม อ. ที่กรุงเทพมหานครนายสมบูรณ์ได้รับกิจการโรงสีที่จังหวัดสุรินทร์ และนายสมจิตรได้รับกิจการโรงน้ำแข็งและอาคาร ต. ที่จังหวัดสุรินทร์ แม้การแบ่งปันทรัพย์สินของกงสีในส่วนของกิจการและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจะมิได้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็น่าจะมาจากการที่ทรัพย์สินดังกล่าวมีชื่อของผู้ตายและบุคคลคนอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน และไม่ปรากฏว่ามีข้อพิพาทระหว่างผู้ตายกับน้องคนอื่นแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่าจำเลยที่ 3 กับผู้ตายขายทองคำที่ได้รับมาเป็นจำนวนมากในตอนแต่งงานและคลอดบุตรคนแรกแล้วนำเงินไปลงทุนซื้อกิจการโรงเลื่อยที่ลำโคมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี (ประมาณปี 2509) กับต่อมาผู้ตายซื้อสัมปทานโรงต้มกลั่นสุราที่จังหวัดนครพนม จนได้รับผลกำไรมากมายจึงนำเงินมาซื้อที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.4 และที่ดินอีกหลายแปลงนั้น แต่ปรากฏว่าที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.4 ซื้อเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2508 ก่อนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีการซื้อโรงเลื่อย ที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.3 ซื้อเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2510 ที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.2 ซื้อเมื่อปี 2513 และปี 2530 ส่วนที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ซื้อเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 ซึ่งมีรายได้หลักอยู่ที่กงสีของตระกูล และนางสาวจิราภาเบิกความยืนยันว่า ที่ดินตามข้อ 2.1.1 ผู้ตายเบิกเงินจากพยานจำนวน 6,000,000 บาท ไปซื้อ โดยผู้ตายถือกรรมสิทธิ์แทนกงสี ส่วนทรัพย์สินตามข้ออื่นผู้ตายก็ขออนุญาตจากบิดามารดาแล้วพยานเบิกเงินให้ไปซื้อเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสามคงมีเพียงจำเลยที่ 3 เบิกความลอย ๆ โดยปราศจากหลักฐานอันควรแก่การเชื่อถือ จึงรับฟังตามที่โจทก์นำสืบหักล้างได้ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 2.1.1. ถึง 2.1.4 เป็นทรัพย์สินของกงสี ต่อมาปี 2531 ถึงปี 2532 นายวุฒิพงษ์และนางทองพูนยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ตายโดยเสน่หา จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 ที่ว่า สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน… (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา" กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 1474 ที่จะเป็นสินสมรสก็แต่โดยมีหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส แม้จำเลยที่ 3 กับผู้ตายได้สมรสกันในปี 2505 ขณะใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม แต่การจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสต้องพิจารณาว่าสามีหรือภริยาได้มาขณะใดและโดยเหตุใด เมื่อปรากฏว่าในระหว่างสมรสได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 โดยมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2519 เป็นต้นไป และยกเลิกบทบัญญัติบรรพ 5 เดิม ซึ่งตามมาตรา 1471 (3) กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาได้มาโดยการให้โดยเสน่หาตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นอันเป็นบทบัญญัติที่แตกต่างจากบทบัญญัติบรรพ 5 เดิม ที่ยกเลิกแล้ว เมื่อผู้ตายได้รับทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.4 ซึ่งบิดามารดายกให้โดยเสน่หา และไม่ได้ทำหนังสือระบุว่าเป็นสินสมรส ทรัพย์สินทั้งสี่รายการดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย อันเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และจำเลยทั้งสามในสัดส่วนคนละ 1 ส่วน ใน 5 ส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปมีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 54407 จังหวัดอุบลราชธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 28233 (ที่ถูกคือ 17199) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ตาย หรือเป็นของนายนิรันดร โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า ผู้ตายกับจำเลยที่ 3 ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้นายนิรันดรไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เห็นว่า จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2.1.1 ถึง 2.2.1.11 เป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 3 และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ผู้จัดการมรดกทั้งสี่ตกลงกันว่าที่ดินที่มีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายนิรันดรถือกรรมสิทธิ์ให้ตกเป็นของบุคคลที่มีชื่อนั้น และจำเลยที่ 3 ยังเบิกความว่าที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีรายการทรัพย์สิน เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 3 กับผู้ตาย กับตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ทราบว่ามีที่ดินที่ใส่ชื่อนายนิรันดรเป็นเจ้าของ แต่ในคดีที่จำเลยที่ 3 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายนิรันดร คงระบุว่าผู้ตายมีทรัพย์สิน คือบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ รวม 4 บัญชี ดังนั้น พยานหลักฐานตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบมาคงรับฟังได้ว่านายนิรันดรมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงแทนผู้ตายกับจำเลยที่ 3 และเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายแปลงละกึ่งหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ทรัพย์สินตามคำฟ้องข้อ 2.2.2 กับทรัพย์สินตามคำฟ้องข้อ 2.2.4 เป็นสินสมรสหรือไม่ ส่วนโจทก์ฎีกาว่า ทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.15 ทั้งหมด และทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.3 ได้แก่ งาช้างสีดำ เป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน เห็นว่า ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.3 จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่า โจทก์เป็นผู้ดูแลและเก็บรักษากุญแจห้องพระของผู้ตายเพียงผู้เดียว ต่อมาพบว่าบ้านพักชั้นล่างในส่วนที่เป็นสำนักงานถูกรื้อค้น จำเลยทั้งสามจึงให้ช่างกุญแจมาเปลี่ยนสะเดาะกุญแจห้องพระพบว่าพระบูชาที่มีมูลค่าสูงของผู้ตายสูญหายไป จึงให้ช่างติดตั้งกุญแจชุดใหม่ให้จำเลยที่ 3 เก็บรักษา คำให้การจำเลยทั้งสามดังกล่าวมิได้ปฏิเสธว่ารายการทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.3 เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 ย่อมมีผลเป็นคำรับตามคำฟ้อง ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าทรัพย์สินรายการที่ 7 งาช้างสีดำเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 ได้รับการยกให้จากนางประยูร จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาท ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 ส่วนทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.4 ที่เป็นรถยนต์ รวม 8 คัน แต่จำเลยทั้งสามคงให้การเพียงว่าทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.4 มีเพียงบางส่วนเท่านั้นเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยมิอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่ารถยนต์รายการใดไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่มีประเด็นให้จำเลยทั้งสามนำสืบเช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่ารถยนต์รายการลำดับที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ใช่สินสมรสของผู้ตายจึงฟังไม่ขึ้น สำหรับทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.2 แบ่งเป็นประเภท นาฬิกา ตั้งแต่รายการลำดับ 1 ถึงที่ 6 ประเภทกระเป๋ารายการลำดับ 7 ถึงที่ 11 เครื่องประดับรายการลำดับ 12 ถึงที่ 45 ซึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 สวมใส่เครื่องประดับดังกล่าว ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน และนาฬิกาในการออกงานสังคมวาระต่าง ๆ เพราะผู้ตายมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีบางครั้งบุคคลคนใดขอยืมจำเลยที่ 3 เพื่อใส่ออกงาน จำเลยที่ 3 ก็อนุญาตสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และภาพถ่าย ที่โจทก์เบิกความว่าผู้ตายซื้อมาให้บุคคลภายในครอบครัวใช้ร่วมกันจึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ แม้ต่อมาภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสามไปเช่าตู้นิรภัยที่ธนาคาร ท. แล้วนำเครื่องเพชรเครื่องประดับต่าง ๆ ไปเก็บรักษาไว้ โดยปรากฏว่ามีโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปเปิดตู้นิรภัยหลายครั้งก็มิใช่ข้อแสดงว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากการรับรู้ของจำเลยที่ 3 หรือกระทำโดยพลการเนื่องจากมีชื่อเป็นผู้เช่าตู้นิรภัยอยู่ด้วย เมื่อพิจารณาถึงสภาพแห่งลักษณะของนาฬิกาและเครื่องประดับดังกล่าวแล้วมีราคาสูง การเช่าตู้นิรภัยเก็บทรัพย์สินดังกล่าวย่อมมีความปลอดภัยจากการถูกโจรกรรม ประกอบกับจำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นมารดาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความไว้วางใจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตู้นิรภัย ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 ภายหลังในปี 2542 จึงเพิ่มชื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าด้วยก็เพื่อให้จำเลยที่ 3 มีหลักฐานว่าบุตรคนใดไปเปิดตู้นิรภัยเมื่อไร และนำเครื่องประดับใดไปใช้ ดังนั้น ทรัพย์สินประเภทนาฬิกาและเครื่องประดับกาย อันเป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับกายที่ได้มาในระหว่างสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 3 โดยค่อย ๆ สะสมมาเป็นเวลานานถึง 35 ปี ทั้งเหมาะสมแก่ฐานะ รายได้ กับสถานะทางสังคมของจำเลยที่ 3 กับผู้ตาย ทรัพย์สินตามรายการดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (2) ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าทรัพย์สิน มิใช่สินสมรส โดยจำเลยที่ 3 เบิกความว่า นาฬิกาลำดับที่ 4 เป็นของผู้ตาย ลำดับที่ 6 เป็นของนายนิรันดร และกระเป๋าลำดับที่ 7 เป็นของผู้ตายนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่ากระเป๋าลำดับที่ 8 ถึงที่ 11 มิใช่สินสมรสอย่างไร จึงไม่มีประเด็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เมื่อพิจารณาถึงคำให้การของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 2.2.2 แม้จำเลยทั้งสามคงให้การเพียงว่า เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้นที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า ทรัพย์สินตามลำดับที่ 4 และที่ 7 เป็นของผู้ตาย ส่วนนาฬิกา ตามลำดับที่ 6 เป็นของนายนิรันดร จึงขัดแย้งกับคำให้การและไม่อยู่ในประเด็นที่จะนำสืบให้รับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทรัพย์สินรายการดังกล่าวเป็นสินสมรสจึงชอบแล้ว
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า ที่ดินตามฟ้องข้อ 3.9.1 และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 3.9.2 เป็นมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 187750 ถึง 187753 กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ ตามฟ้องข้อ 3.9.2 นั้นก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 187750 และ 187751 คืนแก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยการนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกองมรดกไปขายแล้วนำเงินมาซื้อกับใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนกองมรดกคนละ 2 แปลง ศาลแพ่ง-กรุงเทพใต้วินิจฉัยว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาท 2 แปลงแทนจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 โดยปลอดภาระใด ๆ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ พ.304/2558 คดีหมายเลขแดงที่ พ.543/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6891/2561 ซึ่งสืบค้นจากสารบบคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้ การที่โจทก์นำคดีที่มีประเด็นตามฟ้องข้อ 3.9.2 อย่างเดียวกับที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยตามฟ้องของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน ทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้กับคดีก่อนว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 187750 และ 187751 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่อันเป็นประเด็นแห่งคดีข้อเดียวกัน และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วก่อนโจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ (วันที่ 16 มิถุนายน 2559) ฟ้องโจทก์ในข้อนี้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 187750 และ 187751 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 187752 และ 187753 ตามฟ้องข้อ 3.9.2 นั้น จำเลยที่ 3 เบิกความว่า ครอบครัวของจำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพค้าขายมีกิจการโรงงานผลิตลำไยอบแห้งและผลไม้อบแห้งกับโรงงานทำลูกกวาดหลายชนิดขายส่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ แสดงว่าจำเลยที่ 3 มีฐานะการเงินดี น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 มีทรัพย์สินส่วนตัวที่จะซื้อที่ดิน 2 แปลงนี้ได้ และจำเลยที่ 3 ยังเบิกความอีกว่า ให้จำเลยที่ 1 ซื้อมาเมื่อปี 2549 เพื่อรับขวัญหลาน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย และการสมรสระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ตายได้สิ้นสุดลง ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์มีเพียงคำเบิกความของโจทก์ผู้เดียวที่อ้างว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารในการจัดทำบัญชีรับจ่ายของผู้ตายมาสนับสนุนว่ามีการจ่ายเงินกงสีเพื่อให้ซื้อที่ดินดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงได้มาจากการนำเงินมรดกของผู้ตายมาซื้ออันจะเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นสินสมรส จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องร่วมกันคืนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่กองมรดกของผู้ตาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ดินตามฟ้องข้อ 3.9.1 ที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้นำเงินจากกองมรดกของผู้ตายไปซื้อเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 และใส่ชื่อนายนาวิก น้องต่างบิดาของจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทน วันรุ่งขึ้นจึงโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนกองมรดก ทั้งจำเลยที่ 1 เคยส่งรายการบัญชีทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 จัดทำขึ้นต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยอยู่ในบัญชีทรัพย์สินกลุ่ม 3 อันดับที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณาและรายการทรัพย์สิน ซึ่งตรงตามบัญชีรายการทรัพย์สินแบ่งกลุ่ม จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้นเห็นว่า ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เพื่อเรียกคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 3.9.2 แต่เพื่อให้เกิดผลแบ่งปันทรัพย์สินเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เสร็จสิ้น ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีรายการทรัพย์สินเพื่อแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 3 จึงจัดทำบัญชีรายการทรัพย์สินดังกล่าวขึ้นโดยให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกก่อน ในรายการกลุ่มที่ 2 ถึงที่ 3 แต่โจทก์ไม่ยอมรับ แล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสามเบิกความว่าไม่เคยมีข้อตกลงดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 3 ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางกลับระบุถึงที่ดินรายการนี้ไว้ด้วยสอดคล้องกับบัญชีรายการทรัพย์สินกลุ่ม 3 อันดับที่ 1 ดังกล่าวที่จัดทำขึ้นก่อนจำเลยที่ 3 ฟ้องขอแบ่งสินสมรส พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยทั้งสาม และฟังได้ว่าเป็นที่ดินที่นำเงินจากกองมรดกของผู้ตายมาซื้อ จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ที่ดินแปลงนี้ซื้อมาในปี 2547 ก่อนที่จำเลยทั้งสามจะขายทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.1.1 ข้อ 2.1.2 และข้อ 2.1.4 ที่เป็นสินส่วนตัว จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 วรรคสองว่า เป็นการขายทรัพยมรดกในส่วนที่เป็นสินสมรส โจทก์จึงมีส่วนแบ่งในที่ดินแปลงนี้ในสัดส่วน 1 ส่วนใน 10 ส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องคืนเงินค่าตัดไม้ยูคาลิปตัส 100,000,000 บาท อันเป็นทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 4.2 แก่กองมรดกแล้วแบ่งให้โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์จะถือเงินสดค่าตัดไม้ยูคาลิปตัสทยอยส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 ตั้งแต่ปี 2543 เงินบางส่วนนายสมชาย ผู้ทำหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายกงสีของกองมรดกของผู้ตายจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 3 รวมแล้วประมาณ 100,000,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายไม้ กำหนดให้ผู้จะซื้อชำระค่าไม้โดยโอนเงินเข้าบัญชีชื่อโจทก์ ที่ธนาคาร ส. จังหวัดอุบลราชธานี เท่านั้น โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองดูแลเงินค่าไม้แต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 เบิกความว่าไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน ประกอบกับเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่โจทก์จะโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ย่อมมีความปลอดภัยและสะดวกกว่า ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานปรากฏให้เป็นข้อยืนยันได้อย่างชัดแจ้งคำเบิกความของโจทก์จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 3 ได้รับมอบเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมรับผิดคืนเงินค่าตัดไม้ดังกล่าวแก่กองมรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินจากโจทก์และจากการบริหารธุรกิจกองมรดกแล้วไม่ส่งมอบคืนกองมรดก จำนวน 3,485,872 บาทและ 10,852,523 บาท ตามลำดับตามฟ้องข้อ 4.6 หรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ล้วนคัดลอกมาจากอุทธรณ์ของโจทก์ในหน้า 117 และหน้า 118 คงมีการตัดทอนและเพิ่มเติมข้อความเพียงเล็กน้อย ซึ่งมิใช่สาระสำคัญ โดยมิได้คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ข้อนี้ไม่ชอบและฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นประการใดย่อมเป็นข้อฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกา แต่เนื้อหาตามฎีกาของโจทก์แต่ละข้อย่อมพิจารณาแยกวินิจฉัยต่างหากจากกันได้ และตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ประกอบมาตรา 225 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย 24,734,228 บาท แก่โจทก์ตามฟ้องข้อ 5.7 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามขายที่ดินทรัพย์มรดกได้เงินมาหลายรายการ แต่มิได้ทำบันทึกรายการทรัพย์สินและรวบรวมหลักฐานการจัดการมรดกเกี่ยวกับรายการจำหน่ายทรัพย์มรดก รายรับและรายจ่ายอันเป็นการปฏิบัติผิดต่อหน้าที่ผู้จัดการมรดกทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก จงใจจัดการทรัพย์สินของกองมรดกให้ได้รับความเสียหาย เห็นว่า โจทก์ยอมรับว่าผู้ตายมีหนี้ค้างชำระต่อสถาบันการเงินและหนี้ในการบริหารจัดการกิจการภายในกงสีของผู้ตาย ในการจำหน่ายทรัพย์สินต่าง ๆ ได้นำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ย ส่วนที่ยังชำระหนี้ไม่ครบก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องบริษัทในเครือจนถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย รายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายที่ดินในรูปบริษัทก็แบ่งเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน แม้ภายหลังจะปรากฏว่าบริษัทถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตายก็เป็นหน้าที่ที่จำเลยทั้งสามต้องนำมาแบ่งปันแก่ทายาท โดยมีหลักฐานว่าคงเหลือเงินอยู่จำนวนเท่าใด สำหรับการขายที่ดิน 3 แปลง ตามฟ้องข้อ 2.1.2 ก็มีหลักฐานตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ปรากฏว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่เหลือจากการชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภค เงินเดือนพนักงานโรงแรมและค่าใช้จ่ายในกงสี เป็นเงิน 1,000,000 บาทแล้ว นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ จำนวน 47,000,000 บาท ตามฟ้องข้อ 2.1.4 ก็ได้นำไปชำระหนี้ของผู้ตายเป็นต้น โดยจำเลยทั้งสามอ้างว่าคงเหลือ 20,000,000 บาท แต่โจทก์อ้างว่าเหลือ 33,000,000 บาท กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสามจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยผิดต่อหน้าที่หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกแต่อย่างไรโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในรายการต่าง ๆ ตามฟ้องที่ศาลวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นคนละเท่าใดเห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ผู้ตายมีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกจำนวน 5 คน คือโจทก์ นายนิรันดร และจำเลยทั้งสาม จึงต้องแยกพิจารณาว่าทรัพย์มรดกรายการใดเป็นสินส่วนตัวและรายการใดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 หากกรณีเป็นสินส่วนตัว ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็น 5 ส่วน โดยโจทก์ นายนิรันดร และจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับคนละ 1 ส่วน ใน 5 ส่วน หากทรัพย์มรดกรายการใดเป็นสินสมรสการคิดส่วนแบ่งปันทรัพย์สินส่วนนี้ระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 3 ย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 (1) ประกอบมาตรา 1533 กล่าวคือ แบ่งสินสมรสให้แก่ผู้ตายกับจำเลยที่ 3 ได้ส่วนเท่ากัน คือคนละกึ่งหนึ่งก่อนส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงอยู่ในบังคับตามมาตรา 1629 มาตรา 1633 และมาตรา 1635 ให้แก่ผู้สืบสันดานของผู้ตาย 4 คน ให้รับคนละส่วน และจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับ 1 ส่วน รวมเป็นได้รับคนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วน ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ทายาทมีสิทธิได้รับคนละ 1 ส่วน ใน 5 ส่วนได้แก่ ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.4 ทรัพย์มรดกของผู้ตายในส่วนที่เป็นสินสมรสที่ทายาทมีสิทธิได้รับร่วมกับจำเลยที่ 3 คนละ 1 ใน 10 ส่วน จำเลยที่ 3 มีสิทธิได้รับ 6 ส่วน ใน 10 ส่วนได้แก่ ทรัพย์สินเป็นที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2.1.1 ถึง 2.2.1.12 ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.2. ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.3 ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.4 และทรัพย์ตามฟ้องข้อ 3.9.1
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2.1.1 ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 8 ส่วน เพราะมีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม โดยให้นำออกขายแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินมาแบ่งตามสัดส่วน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2678/2558 นั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามกฎหมาย มิได้ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญา จึงเป็นฎีกาที่นอกประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ประกอบมาตรา 225 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ยังมิได้จำหน่ายตามสัดส่วน หรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามส่วนแก่โจทก์ ตามคำขอข้อ 5.1 ถึงข้อ 5.3 และข้อ 5.5 นั้นศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา แต่หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน เห็นว่าทรัพย์มรดกดังกล่าวล้วนเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินแทบทั้งหมด ซึ่งสามารถจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมได้ ทั้งที่ดินบางแปลงยังมีชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้วด้วยส่วนที่ดินที่ไม่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินก็สามารถมีสิทธิครอบครองและโอนการครอบครองกันได้ หากตกลงแบ่งปันกันไม่ได้ ก็ใช้วิธีประมูลราคาระหว่างกันเองหรือขายทรัพย์เพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน หาใช่เป็นทรัพย์ที่มีสภาพไม่สามารถบังคับให้แบ่งปันกันได้ประกอบกับคู่ความมีข้อโต้แย้งกันว่า ที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวมีราคาเท่าไร จึงไม่อาจกำหนดราคาที่จะให้จำเลยทั้งสามใช้เงินตามส่วนที่จะได้รับแก่โจทก์ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพบังคับแห่งคำขอที่ไม่อาจบังคับ ทั้งมีวิธีการอื่นตามหลักเจ้าของรวมที่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745ประกอบมาตรา 1364 และมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมกันเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว นับว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบกับมาตรา 246 และมาตรา 252
สำหรับรถยนต์ลำดับที่ 8 ตามฟ้องข้อ 2.2.4 ข้อเท็จจริงได้ความจากจำเลยทั้งสามว่าได้ขายไปแล้ว จึงไม่มีตัวทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งปันกันได้ จำเลยทั้งสามต้องชดใช้เงินตามสัดส่วนของราคาขายที่โจทก์พึงได้รับ โดยแสดงหลักฐานและราคาตามที่จำหน่ายแก่ผู้ซื้อ แต่เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้มีราคาขาย 500,000 บาท โจทก์คงได้รับ 50,000 บาท ในสัดส่วนของ 1 ใน 10 ส่วน ส่วนทรัพย์ตามรายการตามฟ้องข้อ 2.2.2 ถึง 2.2.4 ที่ศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันแก่โจทก์ตามส่วนนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่สภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ ทั้งมีบทบัญญัติถึงการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1364 และมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แล้วเช่นกัน จึงให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามส่วนแก่โจทก์ด้วย
ในส่วนของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 2.1.1 ข้อ 2.1.2 และข้อ 2.1.4 ที่ขายแก่บุคคลภายนอกนั้น จำเลยทั้งสามต้องแบ่งแก่โจทก์จำนวนเท่าใด ในเบื้องต้นเห็นว่าที่ดินดังกล่าวทั้งหมดเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะทายาท 1 ส่วน ใน 5 ส่วน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1.1 ขายไปในราคา 196,923,085.47 บาท โจทก์ได้รับเป็นเงินปันผลไปแล้ว 2,268,000 บาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 2.1.2 ขายไป 3 แปลง จากทั้งหมด 10 แปลง ในราคา 7,000,000 บาท โจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว 1,000,000 บาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องข้อ 2.1.4 ขายไปในราคา 47,000,000 บาท แม้โจทก์นำสืบว่าการขายทรัพย์สินทั้งสามรายการเป็นราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก ดังนั้น นอกจากจำเลยทั้งสามต้องนำเงินที่ได้จากการขายมาแบ่งให้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ในส่วนของค่าเสียหายที่ขายขาดราคาแก่โจทก์อีกด้วย เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 5.2 โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามคืนเงินที่ได้จากการขายทรัพย์แก่กองมรดกและแบ่งให้โจทก์ตามส่วนเท่านั้น โจทก์มิได้ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดราคาแต่อย่างใด จึงไม่อาจพิพากษาให้เพราะเหตุเกินคำขอ ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบว่าผู้ตายมีหนี้ค้างชำระแก่สถาบันการเงินหลายแห่งทั้งที่กรุงเทพมหานครและที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงตกลงร่วมกันกับโจทก์ว่าจะชำระหนี้ของผู้ตายให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วจะแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยหนี้ที่กรุงเทพมหานครประมาณ 300,000,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบส่วนหนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 100,000,000 บาท มอบให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบดูแล หนี้ที่กรุงเทพมหานครได้เจรจากับเจ้าหนี้แล้วทำหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ภายหลังจึงขายที่ดินของผู้ตายในซอยนานาพร้อมอาคาร 21 ชั้น ชำระหนี้ให้ธนาคาร ก. ส่วนหนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ขายที่ดินบางแปลงเพื่อชำระหนี้ โดยโจทก์ขายที่ดินที่ตั้งโรงแรม ว. จำเลยที่ 3 ขายที่ดินพร้อมแฟลต หลังโรงแรม ป. (ข้อ 2.1.2) ในราคา 7,000,000 บาท นำเงินไปชำระค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค คงเหลือ 4,000,000 บาทขายที่ดินที่ลาดพร้าว 101 จำนวน 93 แปลง (ข้อ 2.1.1) ซึ่งหักชำระค่าภาษีค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน ค่านายหน้า และอื่น ๆ แล้ว เป็นเงิน 62,000,000 บาทเศษคงเหลือ 138,000,000 บาทเศษ ขายที่ดินที่ถนนสุริยาตร (ข้อ 2.1.4) ชำระหนี้ของผู้ตายแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ค่าภาษี ค่านายหน้า และอื่น ๆ คงเหลือ 20,000,000 บาท เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้นำเงิน 196,923,085.47 บาท ตามฟ้องข้อ 2.1.1 และจำนวน 4,000,000 บาท ตามฟ้องข้อ 2.1.2 ที่ได้รับจากการขายมาแบ่งแก่โจทก์ซึ่งคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่าจำนวนเงินที่กำหนดไม่เหมาะสมหรือคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงฟังเป็นยุติในชั้นอุทธรณ์ โจทก์คงฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งจากเงินคงเหลือ 20,000,000 บาท นั้นไม่ถูกต้องเพราะเอกสารหมาย ล.46 จำเลยทั้งสามจัดทำขึ้นเอง ทั้งรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่าแต่ละรายการใช้จ่ายจำนวนเท่าไร และค่าใช้จ่ายที่บ้านในกรุงเทพมหานครก็เป็นค่าใช้จ่ายประจำ จำเลยทั้งสามสามารถนำเงินจากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแปลงอื่นมาชำระได้ จำเลยทั้งสามจึงอ้างไม่ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายอีก 13,000,000 บาท นอกเหนือจากที่ชำระหนี้ 14,000,000 บาท แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์จึงคงเหลือเงินต้องแบ่ง 33,000,000 บาท มิใช่ 20,000,000 บาท เห็นว่า รายการชำระหนี้ 14,000,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.31 (แผ่นที่ 1 และที่ 2) ส่วนรายการตามเอกสารหมาย ล.46 ข้อ 4.2 ถึงข้อ 4.5 แม้จำเลยทั้งสามไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงิน แต่เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายตามข้อ 4.2 เกี่ยวกับค่าภาษีที่ดินและค่านายหน้าตามข้อ 4.4 ค่าที่ปรึกษาที่ไปติดต่อลดหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติที่เกิดจากการทำธุรกรรมในการขายและการติดต่อขอปรับลดหนี้ แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้นำพยานเอกสารมาแสดงก็เพราะบางรายการไม่มีการออกใบเสร็จรับเงิน ส่วนค่าใช้จ่ายตามข้อ 4.3 และข้อ 4.5 ก็เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติในการดำเนินกิจการโรงแรมและบริษัทในเครือที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนค่าใช้จ่ายในบ้านที่กรุงเทพมหานคร ก็เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นตามปกติทุกเดือน แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุจำนวนเงินแต่ละรายการไว้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากเป็นกิจการภายในกงสีที่โจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน และผู้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกงสี คือนายสมชาย โจทก์สามารถตรวจสอบหรือสอบถามหรือนำนายสมชายมาเบิกความเป็นพยานโจทก์เพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยทั้งสามได้ ประกอบกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามล้วนเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติที่มีอยู่จึงไม่มีข้อพิรุธแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินคงเหลือ 20,000,000 บาท มาแบ่งแก่ทายาททุกคนจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงิน 1,000,000 บาท จากจำเลยทั้งสามไปแล้วตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงต้องนำมาหักออกจากเงินส่วนแบ่งทั้งหมดที่โจทก์จะได้รับด้วย เมื่อรวมเงินค่าขายที่ดินโดยหักค่าใช้จ่ายตามฟ้องข้อ 2.1.1. ข้อ 2.1.2 และข้อ 2.1.4 แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 220,923,085.47 บาท โจทก์ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน ใน 5 ส่วน จึงเป็นเงิน 44,184,617.09 บาท แต่โจทก์ได้รับเงินไปแล้ว 3,268,000 บาท คงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 40,916,617.09 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีชีวิตอยู่ ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลด้วยกันทุกคน ย่อมมีหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยต้องถือเอาเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และมาตรา 1726 เมื่อปรากฏว่าผู้ตายมีหนี้ต่อเจ้าหนี้หลายรายโจทก์และจำเลยทั้งสามย่อมมีหน้าที่จัดสรรทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะนำทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือมาแบ่งปันแก่ทายาททุกคน คดีนี้ปรากฏว่ามีการขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 8 คูหา ตามฟ้องข้อ 2.1.4 เป็นแปลงสุดท้ายในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 แล้วนำเงินชำระหนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ผู้เป็นเจ้าหนี้ จำนวน 14,000,000 บาท สามีโจทก์เคยทำหนังสือถึงจำเลยทั้งสามเพื่อให้ส่งเงินและทรัพย์สินคืนแก่กองมรดกแต่หนังสือลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 อันเป็นเวลาก่อนชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของผู้ตายเสร็จสิ้น ทั้งต่อมาจำเลยที่ 3 ทำหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เพื่อนัดประชุมผู้จัดการมรดกทุกคน แต่โจทก์อ้างติดภารกิจไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ นอกจากนี้ในคดีที่จำเลยที่ 1ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากโจทก์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายดำที่ พ.304/2558 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ว่าจำเลยที่ 1 เสนอรายการทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 ประสงค์จะแบ่งให้บุตรทุกคนแก่ศาล แต่โจทก์ขอกลับไปตรวจสอบราคาประเมินของทางราชการก่อน ในที่สุดโจทก์ไม่รับข้อเสนอของฝ่ายจำเลยทั้งสาม ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 เปิดโอกาสให้โจทก์มีสิทธิเลือกรายการทรัพย์สินในกลุ่มที่ 2 ถึงที่ 3 ก่อน แสดงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามไม่อาจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ดังนั้นมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามมิได้กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ประกอบกับเงินที่ขายทรัพย์สินต่าง ๆ ภายหลัง เหลือจากการชำระหนี้แล้วก็ไม่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามนำไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตนอันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนี้นับแต่วันที่เอาไปใช้ต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ประกอบมาตรา 811 ที่ให้นำหลักตัวแทนมาใช้โดยอนุโลม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไชยศิริ ผู้ตาย จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 61273 ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 3.9.1 ให้แก่โจทก์ ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 10 ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้แบ่งทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2.3 แก่โจทก์ด้วย ในสัดส่วน 1 ส่วน ใน 10 ส่วนให้ร่วมกันชำระเงินตามฟ้องข้อ 2.2.4 จำนวน 50,000 บาท กับให้ร่วมกันชำระเงินค่าขายทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.1.1 ข้อ 2.1.2 และข้อ 2.1.4 จำนวน 40,916,617.09 บาท แก่โจทก์ ในกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามตกลงแบ่งทรัพย์รายการใดกันไม่ได้ ให้ประมูลซื้อทรัพย์ระหว่างกันเอง หากประมูลราคากันไม่ได้ให้นำทรัพย์นั้นออกขายแล้วนำเงินสุทธิส่วนที่เหลือมาแบ่งกันตามส่วน ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยหากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.139/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว จ. จำเลย - นางสาว ต. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ชาติชาย อัครวิบูลย์ อธิคม อินทุภูติ จรัญ เนาวพนานนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นางนพมาศ ดูลภัทร ปิ่นกระจาย ศาลอุทธรณ์ - นายวิชัย ตัญศิริ