คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 137 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186, 226/5, 227/1 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย รวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้าน จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม
ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 268
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ต่อมาภายหลังสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ถึงแก่ความตาย นายขวัญชาย บุตรของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ กับที่ดินโฉนดเลขที่ 13334 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 9760 แก่นางวีรนันหรือสายฝน บุตรของโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 เป็นประกันหนี้กู้ยืมเงินไว้กับธนาคาร พ. ส่วนนางวีรนันจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9760 เป็นประกันหนี้กู้ยืมเงินไว้กับธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 จากโจทก์ในราคา 9,500,000 บาท โดยมีนางพิมพ์นิภา มารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญา วันรุ่งขึ้นโจทก์และนางวีรนันไปไถ่ถอนที่ดินทั้งสองแปลงที่จำนองไว้กับธนาคาร โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกเงินค่าไถ่ถอน แล้วมีการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองแปลง โจทก์ลงลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งมีข้อความที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 และมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9759 ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นประกัน และโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 แก่จำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน เป็นเงิน 5,000,000 บาท ต่อมามีการขยายระยะเวลาขายฝากออกไปมีกำหนด 3 เดือน และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13334 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 เดือน เป็นเงิน 1,500,000 บาท ในการจดทะเบียน ขายฝากที่ดินทั้งสามแปลงนั้น นางพิมพ์นิภากับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและนางสาวภรภัทร กับจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวว่า โจทก์ผู้มอบอำนาจได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจ กับจำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อฝาก และมีเจตนาจะทำการตามหนังสือมอบอำนาจจริง โจทก์นำมูลคดีนี้ไปฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เรื่อง ละเมิดและเพิกถอนนิติกรรม ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ 1350/2562 หมายเลขแดงที่ พ 732/2563 ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีการเพิ่มเติมประเด็นการขยายความของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงเล็กน้อย และไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำวินิจฉัยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต้องมีข้อสำคัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (9) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 โดยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว (5) ถึง (8) กำหนดว่า ต้องมีข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ และคำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีรายการอันเป็นข้อสำคัญดังที่กล่าวมาครบถ้วนแล้ว ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น และใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยรวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็เป็นเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์มีจำเลยที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่มาเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งศาลจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เพียงใดนั้น คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ต้องมีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือ ควรแก่การจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ตามทางพิจารณาจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 แต่ไม่มีหลักประกัน จึงแจ้งโจทก์ว่ามีผู้ประสงค์จะซื้อที่ดิน จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปพบโจทก์เพื่อขอดูเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายรูปโฉนดที่ดินเลขที่ 9759 และ 9760 ไว้ อันเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ได้เงินกู้แต่ผู้เดียว แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ต้องจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วยจึงจะกู้ยืมเงินได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมหรือวางแผนให้จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปกรอกข้อความให้ผิดความประสงค์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 จากโจทก์ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสามตรงกันว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ทราบเรื่องการทำสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดิน การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีผู้สนใจซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ จึงอาจจะเป็นเพราะจำเลยที่ 2 มุ่งหวังได้บำเหน็จจากการชี้ช่อง ทั้งในวันไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนข้อความว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เงินที่ใช้เป็นค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงินของจำเลยที่ 3 ในวันดังกล่าวมีนางวีรนันและสามี จำเลยที่ 1 และบิดามารดาของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย การทำหลักฐานกู้ยืมเงินไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ จึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปเพื่อเป็นประกันค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระ จึงนำที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 ไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 บอกว่าการจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องหาวิธีเพื่อจดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสองแปลง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการคิดวางแผนและกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำหนังสือมอบอำนาจ 3 ฉบับ รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อที่โรงพยาบาล พ. โดยจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ว่าจะนำไปใช้ในการรังวัดที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนอาคารโรงพยาบาลเพื่อนำหนังสือมอบอำนาจไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อโดยลำพัง ส่วนจำเลยที่ 1 รออยู่ข้างล่าง แต่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า เหตุที่โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นหลาน ลำพังจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอก โจทก์คงจะไม่ยอมลงลายมือชื่อ และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่เข้าไปร่วมพูดคุยกับโจทก์ โจทก์คงจะไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำหนังสือมอบอำนาจไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อ จึงมีข้อพิรุธและผิดปกติวิสัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 กลัวว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9759 และ 9760 จะหลุดการขายฝาก จึงนำที่ดินโฉนดเลขที่ 13334 ไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 3 เพื่อชำระดอกเบี้ย ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องกระทำการดังกล่าว และเป็นผู้หยิบโฉนดที่ดินออกจากบ้านของโจทก์นำไปถ่ายสำเนาเอกสารสีแล้วนำไปเก็บไว้ที่บ้านของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเป็นการหลอกลวงโจทก์โดยการวางแผนและกระทำของจำเลยที่ 1 เองทั้งสิ้น ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 แนะนำให้จดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เสียก่อน แล้วจึงจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 3 และเป็นผู้บอกจำเลยที่ 1 ให้กรอกข้อความตามหนังสือมอบอำนาจ โจทก์คงมีแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการหลอกลวงโจทก์เป็นพยานเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง แม้จำเลยที่ 1 มิได้เป็นจำเลยในคดีนี้แล้วเพราะโจทก์ถอนฟ้อง แต่ลักษณะคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการซัดทอดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้กระทำความผิด จำเลยที่ 1 เป็นเพียงเครื่องมือหรือถูกหลอกลวง มิได้เกิดจากการคิดวางแผนหรือการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง โดยเฉพาะที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่า โจทก์ลงลายมือชื่อขยายกำหนดเวลาขายฝากโดยไม่ได้อ่านข้อความและไม่มีผู้ใดอ่านข้อความให้โจทก์ฟัง จำเลยที่ 1 ไม่มีความรู้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้แนะนำโดยตลอดนั้น ก็ปรากฏตามหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จากขายฝากว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จดทะเบียนขยายกำหนดเวลาขายฝาก โดยจำเลยที่ 3 มิได้ไปด้วย ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสิตานัน เจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ 732/2563 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ว่า นางสาวสิตานันเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ถอนขายฝากครั้งที่ 1 และนำเอกสารดังกล่าวไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อ โดยนางสาวสิตานันได้อธิบายแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ถอนขายฝาก และยังสอบถามโจทก์ด้วยว่า เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจก็ให้ลงลายมือชื่อ เหตุที่ต้องนำเอกสารดังกล่าวไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อนอกอาคารสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก เพราะได้รับแจ้งว่าโจทก์เดินลำบาก จึงอำนวยความสะดวกให้ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสิตานันในคดีแพ่งดังกล่าว เมื่อคำเบิกความของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ซึ่งศาลจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องและอ้างเป็นพยานโจทก์ซึ่งมีข้อพิรุธขัดแย้งกันดังที่กล่าวมาจึงมีน้ำหนักน้อย โจทก์ต้องมีพยานอื่นประกอบจึงจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนที่โจทก์อ้างคำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งหมายแดงที่ พ 732/2563 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกเป็นพยาน เนื่องจากระหว่างการพิจารณา โจทก์เจ็บป่วยหนักไม่สามารถมาเบิกความต่อศาล ซึ่งโจทก์เบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ขณะยังไม่มีการกรอกข้อความและไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ไปสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2 โดยอ้างว่า โจทก์ต้องลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน และให้โจทก์นั่งรออยู่ตรงที่นั่งของประชาชนที่มาติดต่อ จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำเรื่องเกี่ยวกับการขอกู้ยืมเงิน แล้วนำเอกสารมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ โดยไม่ได้อ่านให้โจทก์ฟัง และโจทก์ไม่ได้อ่านเนื่องจากตามองไม่เห็น โจทก์ถามว่าทำไมต้องลงลายมือชื่อจำนวนมาก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตอบว่าต้องกู้ยืมเงินธนาคาร 3 แห่ง โจทก์ไม่เคยมีความคิดที่จะขายฝากที่ดินและยกให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจนั้น เหตุที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเนื่องจากต้นฉบับโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ และโจทก์ไว้วางใจจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหลาน แต่คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำเบิกความในคดีอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลอาจรับฟังคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีนี้ได้ และมีเหตุอันจำเป็นเนื่องจากโจทก์เจ็บป่วยหนักไม่สามารถมาเบิกความต่อศาล แต่ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อพิจารณาคำเบิกความของโจทก์แล้ว โจทก์ยอมรับว่าลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารจริง ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจหลายฉบับไปให้ลงลายมือชื่อ อ้างว่าต้องทำเรื่องขอกู้ยืมเงินธนาคารนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปหาโจทก์ที่โรงพยาบาล พ. จำเลยที่ 2 ไปพบโจทก์และให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยอ้างว่าจะนำไปใช้ในการรังวัดที่ดิน ในวันนั้นจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ 3 ฉบับ ส่วนในวันจดทะเบียนขยายกำหนดเวลาขายฝาก จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ให้ไปสำนักงานที่ดินอ้างว่าเอกสารหลักเขตไม่เรียบร้อย และจำเลยที่ 1 เบิกความอีกว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและยินยอมขยายกำหนดเวลาขายฝาก โดยโจทก์เข้าใจว่าเป็นการขายที่ดิน คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าว จึงแตกต่างขัดแย้งกับ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวภรภัทรพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 1 และมารดาของจำเลยที่ 1 ไปหาพยานที่บ้าน ขอให้พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจอ้างว่าจะไปโอนที่ดิน ขณะที่พยานลงลายมือชื่อในช่องพยานยังไม่มีการกรอกข้อความ มีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ แม้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจแต่จำเลยที่ 3 ก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 3 ช่วยลงลายมือชื่อเนื่องจากพยานในหนังสือมอบอำนาจขาดไป 1 คน และขณะลงลายมือชื่อมีการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้ว คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้านในคดีนี้ จึงมีน้ำหนักน้อยเช่นกัน ส่วนพยานอื่นของโจทก์มิใช่พยานที่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมและจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมตามฟ้อง กรณีต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความแก่นางศรัญญา เจ้าพนักงานที่ดิน โดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีข้อความตามตราประทับว่า "… จำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อฝากขอให้ถ้อยคำว่าผู้มอบได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้า และมีเจตนาจะทำการตามหนังสือมอบอำนาจนี้จริง…" กับแจ้งข้อความโดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แผ่นที่ 2 ซึ่งมีข้อความตามตราประทับว่า "…ในการทำสัญญานี้ จำเลยที่ 3 ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง…" และแจ้งข้อความแก่นางสาวอรสา เจ้าพนักงานที่ดิน โดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งมีข้อความที่เขียนด้วยปากกาว่า "…จำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อฝาก ขอให้ถ้อยคำว่า ผู้มอบได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้า และมีเจตนาจะทำการตามหนังสือมอบอำนาจนี้จริง…" แต่ได้ความจากนางศรัญญาและนางสาวอรสาเบิกความว่า นางศรัญญาและนางสาวอรสาเป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากข้างต้น เป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งตามเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำนั้นยังมีข้อความว่า ถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผิดในกรณีมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เช่นนี้ เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2188/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ห. โดยนาย ข. ผู้เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย จำเลย - นางสาว พ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ณรงค์ ประจุมาศ สัญญา ภูริภักดี ชาตรี หาญไพโรจน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพิษณุโลก - นายณรัฐ แก้วพิกุล ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง