สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1097, 1237 (4)

พฤติการณ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีเจตนายุติความเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 คงเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 3 เพียง 2 คน เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทจำเลยที่ 3 ต่างมีความขัดแย้งกันจนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งต้องการออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นผลให้จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ถือหุ้นสามคนที่จะตั้งบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1097 ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไป และเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กรณีถือว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน ตามมาตรา 1237 (4) แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินลงทุนและทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชําระได้เมื่อเลิกบริษัทและทำการชําระบัญชี เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อขอแบ่งทุนและทรัพย์สินคงเหลือและเมื่อกรณีต้องด้วยเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 7,576,894 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละ 250,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 29 มกราคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 111,637 บาท แก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในส่วนของจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการงานวิวาห์ครบวงจร ให้บริการถ่ายภาพ เสริมความงามและสตูดิโอ มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท จำเลยที่ 1 ถือหุ้น 4,000 หุ้น จำเลยที่ 2 ถือหุ้น 3,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้น 3,000 หุ้น มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการร้าน ร. และร้าน บ. มีโจทก์เป็นผู้จัดการร้านรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพบโจทก์ที่ ร้าน ร. จากนั้นโจทก์มิได้กลับเข้าไปทำงานที่ร้านทั้งสองอีก

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องหุ้นส่วนบริษัทซึ่งโจทก์ขอเรียกคืนทุน คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องละเมิดและความรับผิดจากการทำละเมิด ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการเข้ามาในร้าน ร. กล่าวอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา และขับไล่โจทก์ออกจากร้านห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องกับร้าน ร. และร้าน บ. อีกต่อไป ทั้งประกาศริบเงินหุ้นส่วน เงินปันผลและทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสาม การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่โจทก์ระบุในคำฟ้องด้วยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหุ้นส่วนสถานประกอบการชื่อ ร. และ บ. และจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการให้บริการงานวิวาห์ครบวงจรมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำการให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าหุ้นและเงินปันผลร้าน ร. และร้าน บ. แก่โจทก์ คืนเงินในบัญชีเงินฝาก ชำระเงินปันผลค้างจ่ายรวมถึงค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ ทั้งโจทก์นำสืบด้วยว่า โจทก์ตกลงเข้าหุ้นกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อประกอบกิจการร้าน ร. และร้าน บ. ต่อมาจำเลยทั้งสามประกาศริบหุ้น เงินปันผลและทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ โจทก์จึงประสงค์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินตามฟ้อง เห็นได้ว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์เป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการให้บริการงานวิวาห์ใช้ชื่อว่า ร้าน ร. และร้าน บ. ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิโจทก์ด้วยการประกาศริบหุ้น เงินปันผลและทรัพย์สินทั้งหมดที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใช้คืนเงินลงทุน แบ่งทรัพย์สินของบริษัทและใช้เงินปันผล อันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในการประกอบกิจการของบริษัทจำเลยที่ 3 และเรียกทรัพย์สินและหุ้นคืน มิใช่การฟ้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในการประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในเรื่องละเมิดแต่อย่างใด และเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องหุ้นส่วนบริษัทซึ่งโจทก์ขอเรียกคืนทุน คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องละเมิดและความรับผิดจากการทำละเมิดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่เคลือบคลุมนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่เคลือบคลุม ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว ปัญหาว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระที่ต้องวินิจฉัยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องความขัดแย้งในการประกอบกิจการบริษัท การเรียกคืนหุ้นและเรียกทรัพย์สินของบริษัท กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท มาปรับใช้แก่คดี โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับกันว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อขัดแย้งกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า สามีโจทก์เปิดร้านซึ่งประกอบกิจการลักษณะเดียวกันกับกิจการของจำเลยที่ 3 และทำการค้าแข่งเป็นปฏิปักษ์แก่กิจการของจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลงที่ทำไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารงานร้านจงใจไม่ยื่นภาษีจนสรรพากรพื้นที่ระยองมีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบกิจการร้านเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าผลของการผิดข้อตกลงต้องริบคืนหุ้นที่เป็นของโจทก์ ส่วนโจทก์อ้างว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติผิดข้อตกลง และโจทก์กับสามีมิได้กระทำทุจริตจงใจไม่ยื่นภาษี จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ต้องการทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป และประสงค์จะเรียกเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ คืน ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ออกจากร้านมิได้ประกอบกิจการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีเจตนายุติความเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 คงเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 3 เพียง 2 คน เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทจำเลยที่ 3 ต่างมีความขัดแย้งกัน จนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งต้องการออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นผลให้จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ถือหุ้น 3 คน ที่จะตั้งบริษัทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1097 ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปและเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กรณีถือว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคนตามมาตรา 1237 (4) แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินลงทุนและทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อเลิกบริษัทและทำการชำระบัญชี เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อขอแบ่งทุนและทรัพย์สินคงเหลือและเมื่อกรณีต้องด้วยเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนการที่โจทก์ขอคืนทุนโดยมิได้ขอให้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 3 เสียก่อนนั้น ได้ความว่า บริษัทจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการให้บริการงานวิวาห์เปิดเป็นร้านให้บริการหลายร้าน มีทรัพย์สิน รายได้ รายจ่าย และอาจมีหนี้สินค้างชำระแก่บุคคลภายนอก จึงมีความจำเป็นต้องจัดให้มีการชำระบัญชีเพื่อให้ทราบทรัพย์สิน หนี้สิน รวมถึงผลกำไร ขาดทุนของบริษัทเสียก่อน โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีข้อขัดแย้งกันหากจะตั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีก็เล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีเพื่อทำการชำระบัญชีไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ในบริษัทจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ถือหุ้น 3,000 หุ้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวมาตรา 1024 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการ โจทก์อ้างว่า โจทก์นำเงินมาลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงทุนอีกกึ่งหนึ่ง อันเป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งว่าบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนั้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบโจทก์คงมีแต่โจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถือหุ้นกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบริษัทจำเลยที่ 3 เช่นนี้ สัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ในบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ใช้เป็นฐานในการชำระบัญชีคงเป็นไปตามที่ระบุในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือ โจทก์ถือหุ้น 3,000 หุ้น ส่วนโจทก์จะได้รับคืนทุนหรือทรัพย์สินหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปในชั้นชำระบัญชี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องความรับผิดของจำเลยทั้งสามอีกต่อไป

พิพากษากลับ ให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พณ.70/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ส. จำเลย - นาย ว. กับพวก

ชื่อองค์คณะ อุดม วัตตธรรม พิศิฏฐ์ สุดลาภา จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพัทยา - นายมานพ จรัสจรรยาวงศ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายศิริศักดิ์ เหมาะทอง

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th