สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 171, 213, 222, 420, 423, 438, 456 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 4, 15, 32

หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.กับเรื่อง ก. ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยาย ทั้งสองเรื่องดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ซื้อตกลง ซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่าผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดในนวนิยาย ทั้งสองเรื่องทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียว และผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้ แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ นวนิยาย เรื่อง พ. เป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตามแต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน" เมื่อนำข้อความดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสัญญาที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทช.เป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ดังนี้ย่อมทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ ทั้งสองฝ่ายคงเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราวให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้ง เท่านั้นซึ่งสอดคล้องกับในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงฟังได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่อง พ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิของโจทก์ ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่องพ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกจึงเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยาย เรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีกต่อไปส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นละคร โทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้ โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์แต่การที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฉบับพิพาทมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องพ. แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร เพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร ออกเผยแพร่ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรจากโจทก์ทั้งสองได้ ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ. ดีกว่ากัน เป็นการที่โจทก์ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวโดยโจทก์ประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยาย เรื่องที่พิพาทโดยชอบแล้ว ดังนี้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2513จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักประพันธ์นามปากกาว่า พนมเทียน ตกลงทำสัญญาขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง "เพชรพระอุมา" ให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวในราคา 150,000 บาท เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือออกรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 ขายลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 500,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์นี้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครเผยแพร่ทางโทรทัศน์ เมื่อวันที่15 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 มีหนังสือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองว่า สิทธิของโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายระงับไปแล้วไม่มีสิทธิที่จะให้บุคคลอื่นนำไปสร้างภาพยนตร์ได้ และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 ได้ซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายดังกล่าวจากจำเลยที่ 1จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน197,750 บาท รวมเป็นเงิน 697,750 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายนวนิยายตามฟ้องในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาภาค 1 ยังไม่จบสิ้น เป็นการขายสิทธิเฉพาะคราวโดยมีข้อตกลงให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือออกรายการวิทยุโทรทัศน์ หากโจทก์ที 1 ไม่อาจสร้างภาพยนตร์และจะขายนวนิยายดังกล่าวให้แก่ผู้ใด โจทก์ที่ 1 ต้องแบ่งเงินกำไรที่ได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง เมื่อปี 2514โจทก์ที่ 1 แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องเพชรพระอุมาออกฉายเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์แล้ว ส่วนเรื่องกุหลาบไฟ โจทก์ที่ 1 ได้ขายสิทธิให้แก่ผู้อื่นนำไปสร้างภาพยนตร์ แต่ไม่ได้แบ่งเงินกำไรให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงระงับ เมื่อโจทก์ที่ 1นำนวนิยายของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 เช่า ถือว่าโจทก์ทั้งสองละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1เป็นเงิน 1,000,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยั่วยุจำเลยที่ 1 และบิดเบือนความจริง จำเลยที่ 1 ในฐานะนักประพันธ์ย่อมได้รับความเสียหายเสื่อมศรัทธาจากสาธารณชนและได้รับความเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท และการที่โจทก์ที่ 1ไม่นำเงินกำไรที่ได้รับจากการขายนวนิยายเรื่องกุหลาบไฟแบ่งให้จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 75,000 บาท ถือว่าโจทก์ที่ 1ผิดสัญญาขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งแสดงว่าสัญญาซื้อขายนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟ ระหว่างที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้ว ห้ามโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับนวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ ห้ามโจทก์ที่ 2 นำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างภาพยนตร์หรือบันทึกภาพวีดีโอเทป กับให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่จำเลยที่ 1 จนกว่าชำระเสร็จ และให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี แก่จำเลยที่ 1 นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องมิใช่สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาดเป็นเพียงข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 สร้างภาพยนตร์เรื่องเพชรพระอุมาตอนไพรมหากาฬและตอนมรกตนครเสร็จสมบูรณ์ และนำออกฉายเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์และทางโทรทัศน์แล้ว สัญญาเป็นอันระงับ การที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ทั้งภาค 1 และภาค 2 โดยนำไปดัดแปลงจัดสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์หรือแถบบันทึกเสียงนำออกเผยแพร่ จึงเป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะกระทำได้ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1ทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งสองเรื่องพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยเด็ดขาด โจทก์ที่ 2 ไม่เคยกระทำการอันใดให้จำเลยที่ 1เสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ห้ามโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเรื่องเพชรพระอุมา และห้ามโจทก์ที่ 2นำวรรณกรรมเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือบันทึกภาพเป็นวีดีโอเทป กับให้ยกฟ้องแย้ง

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 2 จะฎีกาในข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่7 เมษายน 2513 โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ในราคา 150,000 บาท ปรากฏตามรายละเอียดหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 ขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1ได้ประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาตอนไพรมหากาฬและตอนมรกตนครออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว โจทก์ที่ 1 ได้นำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาตอนไพรมหากาฬไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่ ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2530 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่านวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาตอนไพรมหากาฬและตอนมรกตนคร เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้มอบบทประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาภาค 1 และภาค 2 ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 3 หรือตัวแทนเพื่อนำไปจัดสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงนำออกเผยแพร่ภายในเวลา 4 ปี นับแต่วันรับมอบ โดยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 3 มีสิทธิจะนำแพร่ภาพออกอากาศได้ไม่เกิน 3 ครั้ง การรับมอบบทประพันธ์ดังกล่าว จำเลยที่ 2ให้การยอมรับว่า ผู้รับมอบทำการรับมอบในนามของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 เองก็นำสืบเช่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่านวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาตอนไพรมหากาฬ และตอนมรกตนคร จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธินำนวนิยายดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ 2 เช่าและสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่มีอยู่ตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเป็นอันระงับ สิทธิในนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาย่อมตกไปเป็นของจำเลยที่ 1ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามเดิม

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 โอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาทั้งเรื่องตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนกระทั่งตอนจบสมบูรณ์ให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป หรือว่าเป็นเพียงการอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เฉพาะคราว เห็นว่าตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อ (1) ข้อ (3) และข้อ (3) และข้อ (5) ว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟให้แก่ผู้ซื้อซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวผู้ซื้อตกลงซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ในราคาทั้งหมด 150,000 บาท ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่านวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียวเท่านั้น ผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ในตอนสุดท้ายหรือตอนจบ จากข้อสัญญาทั้งสามข้อดังกล่าวบ่งบอกเจตนาในขณะทำสัญญาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่าทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ (1) ข้อ (5) และ ข้อ (6) เท่านั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้

ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 โอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตามแต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 มีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ คือ เรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง หรือ 50 % (ห้าสิบเปอร์เซ็นต์)ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อ 150,000 บาท เสียก่อน" ข้อความในหมายเหตุต่อท้ายสัญญาที่ว่านี้เมื่อนำไปพิจารณาร่วมกับสัญญาข้อ (4) ที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทหนังจีนชอว์บราเทอร์ฮ่องกงเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ได้ว่าความจริงทั้งสองฝ่ายหาได้เจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราว คือให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็นำสืบว่าในขณะทำหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 จำเลยที่ 1 ขอให้เติมคำว่า โจทก์ที่ 1 ตกลงซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวไว้ในสัญญาข้อ (1)ด้วยแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 อ้างแต่จำเลยที่ 1 ว่า เป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่า การซื้อไปสร้างเป็นภาพยนตร์นั้นจะสร้างเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีใครสร้างซ้ำหลายครั้งขอให้ผ่านข้อท้วงติงของจำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นเหตุให้ในสัญญาข้อ (1) มิได้ระบุจำนวนครั้งที่โจทก์ที่ 1 สามารถจะนำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภายยนตร์ไว้ และเมื่อได้พิจารณาสัญญาที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิในบทประพันธ์ที่จำเลยที่ 1เป็นผู้ประพันธ์ให้แก่บุคคลอื่นในเวลาต่อมาอีกหลายเรื่องหลายฉบับซึ่งสัญญาดังกล่าวทุกฉบับล้วนแต่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการใช้สิทธิของผู้ซื้อสิทธิไว้ทั้งสิ้นคือบางฉบับกำหนดไว้เพียง3 ปี และบางฉบับกำหนดไว้ 5 ปี กับพิจารณาคำเบิกความของนายวิชิต ตริชอบ รองประธานกรรมการลิขสิทธิ์เพลงของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คำเบิกความของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้มีอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจภายยนตร์ทั้งด้านผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ เขียนบทภาพยนตร์และตัดต่อฟิล์มภาพยนตร์ รวมทั้งคำเบิกความของนายชัย วิศิษฐ์สรอรรถเจ้าของและผู้จัดการสำนักพิมพ์หรรษา ที่ต่างเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ในทำนองเดียวกันว่า ในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์ การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้นแล้วมีเหตุให้เชื่อได้ว่าในขณะทำสัญญา จำเลยที่ 1 ได้ขอให้เติมข้อความคำว่าโจทก์ที่ 1 ตกลงซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวไว้ในสัญญาข้อ (1) แต่ถูกโจทก์ที่ 1 โต้แย้งว่าไม่ควรเติมข้อความดังกล่าวไว้ในสัญญา เพราะเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่าโจทก์ที่ 1 จะนำไปสร้างภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง อีกประการหนึ่ง ถ้าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาซื้อขายให้โอนลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาต่อกันโดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปแล้วหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟ เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 ก็ไม่น่าจะต้องมีเงื่อนไขตามข้อ (4) ที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทหนังจีนชอว์บราเทอร์ฮ่องกง เป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนและไม่น่าจะต้องมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องให้แก่ผู้อื่นได้แต่ผู้ซื้อจะต้องแบ่งผลกำไรในการขายบทประพันธ์ดังกล่าวให้แก่ผู้ขายครึ่งหนึ่งเพราะถ้าโจทก์ที่ 1 ซื้อ และความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นวนิยายที่ซื้อโอนไปเป็นของโจทก์ที่ 1โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบแล้วโจทก์ที่ 1 ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะขายหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิที่โจทก์ที่ 1 มีอยู่ได้โดยชอบไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 ผู้หมดสิทธิในลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ในสัญญาอีกต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาระหว่าง โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมากับเรื่องกุหลาบไฟเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปดังที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องและนำสืบไม่ การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้วสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีก และเมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการสุดท้ายคือปัญหาเรื่องความเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท และโจทก์ทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อชื่อเสียงรวมทั้งนามปากกาของจำเลยที่ 1 ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับสรุปความได้ว่า โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ได้ไปติดต่อขอซื้อบทประพันธ์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าของลิขสิทธิ์คือโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไปติดต่อซื้อจากโจทก์ที่ 1 ปรากฏว่าหลังจากนั้น โจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 2 รู้สึกงงและต้องชะลอการสร้างภาพยนตร์ไว้ก่อน ครั้นต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ข่าวว่าได้ส่งหนังสือแจ้งให้แก่จำเลยที่ 1 แต่มาแก้ข่าวในภายหลังว่าไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 หนังสือแจ้งที่ส่งเป็นการให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 ให้ข่าวอีกว่าโจทก์ที่ 2 จะไม่ระงับการสร้างภาพยนตร์เรื่องเพชรพระอุมา เพราะโจทก์ที่ 2 ได้เตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้วโจทก์ที่ 2 จะเปิดกล้องในเร็ว ๆนี้ ข่าวที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันเช่นนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 เสียชื่อเสียงและเสื่อมความนิยม เฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลที่อยู่นอกวงการไม่ทราบข้อเท็จจริงก็จะทำให้จำเลยที่ 1เสื่อมเสียชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น ยอดการติดตามหรือซื้อผลงานของจำเลยที่ 1 จะเสื่อมถอยลง ทำให้จำเลยที่ 1 ขาดรายได้จำเลยที่ 1 จึงเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้เอาแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาทนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 แล้วมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครออกเผยแพร่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากโจทก์ทั้งสองได้

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อชื่อเสียงและนามปากกาของจำเลยที่ 1 ด้วยการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนไปลงข่าวทางนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับโจมตีจำเลยที่ 1 ดังที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันล.12 นั้น เห็นว่า ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่า ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาดีกว่ากันเท่านั้นการให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวของโจทก์ทั้งสองฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยายพิพาทโดยชอบแล้ว ไม่น่าที่จำเลยที่ 1 จะทำการโต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้

พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ห้ามโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาของจำเลยที่ 1 คำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย วิทยา เวสสวัฒน์ กับพวก จำเลย - นาย ฉัตรชัย วิเศษ สุวรรณ ภูมิ กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุรินทร์ นาควิเชียร จเร อำนวยวัฒนา ม.ล.เฉลิมชัย เกษมสันต์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th