คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 142 (5), 246, 252 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 40, 158 (5) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 25 (4)
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำเลยชดใช้เงินรางวัล 570,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2562 เป็นเงิน 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 90,586.06 บาท และให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโอนเงินทั้งหมดเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง (ที่ถูก ยกฟ้องคดีส่วนแพ่ง) ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่ง
ต่อมาก่อนส่งสำนวนไปศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 มีใจความว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดและให้จำเลยโอนเงินรางวัลแก่โจทก์ทันที และโจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 มีใจความว่า ขอให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 9 สิงหาคม 2564
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องประกอบด้วยผู้หลอกลวงมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และผลการหลอกลวงนั้นทำให้ผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ คดีนี้ แม้โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่า การที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลซึ่งถูกส่งมาโดยบริษัท E และเมื่อโจทก์ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับใบรับรองการถูกรางวัลไปยังบริษัทสาขาของจำเลยรวมถึงบริษัทต่างประเทศเพื่อให้ระบุยืนยันว่าใบรับรองการถูกรางวัลนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือเป็นเอกสารที่สร้างขึ้นมาหลอกลวงกัน โจทก์ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นข้อสรุป โดยจำเลยไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ถือเป็นการหลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัลนั้น แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งของโจทก์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า ในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน ในกรณีที่ศาลที่จะพิจารณาคดีอาญารับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาแล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเช่นนี้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้ แต่ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งให้ถูกต้องเสียก่อน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น ๆ ตามฎีกาของโจทก์ และตามคำขอฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 และฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดีโดยมีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2064/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ก. จำเลย - บริษัท ช.
ชื่อองค์คณะ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล สุวิทย์ พรพานิช
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดมหาสารคาม - นายดิลก พนอำพน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายอนุรัตน์ ลิ่มทอง