สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ หลังจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย แต่กลับเปิดบัญชีกระแสรายวันและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยชำระหนี้โจทก์ คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ถือว่า ณ วันที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์ยังมิใช่เป็นวันละเมิด อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ยังไม่เริ่มนับ เพราะการกระทำของจำเลยกรณีนี้ จะถือเป็นการละเมิดโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์จำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาล ซึ่งศาลมีคำสั่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จึงถือว่า โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้อง วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,087,462.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประจักษ์ - นครราชสีมา ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารวงเงิน 300,000 บาท โดยมีนางสาวรัตนา เป็นผู้ค้ำประกัน แต่วันที่ 19 สิงหาคม 2539 จำเลยถูกศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย หมายเลขแดงที่ ล.197/2539 และวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 จำเลยนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระหนี้รวม 36 ครั้งเป็นเงิน 2,023,432.73 บาท วันที่ 6 ธันวาคม 2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ให้นำเงินที่จำเลยชำระหนี้คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลย ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2547 โจทก์ได้รับโอนทรัพย์สิน หนี้สินและภาระผูกพันของจำเลยมาจากธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เดิม วันที่ 4 สิงหาคม 2549 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีชำระหนี้แก่ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลย วันที่ 14 ธันวาคม 2549 ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้โดยให้โจทก์คืนเงินเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2550 โจทก์ได้ชำระเงินตามคำสั่งศาลดังกล่าวจำนวน 2,087,462.85 บาท คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) โดยปราศจากอำนาจเพราะจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เพราะยังไม่เกิดความเสียหายแก่ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิดต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวจำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์จำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาลแพ่งธนบุรีซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จึงถือว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.742/2553

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำเลย - นายอภิวัฒน์ งามวิวัฒน์อนันต์

ชื่อองค์คณะ ชาตรี สุริยะวิจิตรวงศ์ อภิรัตน์ ลัดพลี ธงชัย เสนามนตรี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นางสาวศิริพร กาญจนสูตร ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายอนันต์ ยมจินดา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th