สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1176, 1185 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42, 46, 47

จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 47

การกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) นั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42, 46, 47

ศาลชั้นต้นพิพากษาไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา ในปัญหาตามคำฟ้องข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.6

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีว่า คดีของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามคำฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.6 มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างในฎีกาว่า สำหรับฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท น. ครั้งที่ 1/2561 และมีหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท น. ครั้งที่ 1/2561 โดยหนังสือเชิญประชุมทั้งสองครั้งแจ้งว่ามีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาลดทุนจดทะเบียน โดยลดมูลค่าหุ้นเพื่อล้างขาดทุนสะสมของบริษัทนั้นเป็นความเท็จ ความจริงบริษัท น. ไม่ได้ขาดทุน จึงเป็นการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทและโฆษณาโดยอ้างอิงบัญชีอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ เห็นว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึง 5 อ้างว่าการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท น. ทั้งสองครั้งก็เพื่อล้างขาดทุนสะสมของบริษัท แต่เมื่อนำมูลค่าหุ้นที่ลดลงไปคำนวณหักขาดทุนสะสมแล้วบริษัท น. ยังมีขาดทุนสะสมอยู่เป็นจำนวน 12,603,980 บาท การลดทุนทั้งสองครั้งดังกล่าวจึงไม่สามารถล้างขาดทุนสะสมได้ จึงเป็นการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และโฆษณาโดยอ้างถึงบัญชีอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดที่อ้างว่าบริษัทไม่ได้ขาดทุนเช่นนี้ จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างในฎีกาข้อต่อมาว่า สำหรับฟ้องข้อ 2.3 ที่ว่า จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. แต่จำเลยที่ 6 เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในวาระเพิ่มทุนและลดทุนซึ่งต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงมติในวาระดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 6 ที่ร่วมลงคะแนนออกเสียงในวาระการพิจารณาให้ลดทุนของบริษัท น. จึงเป็นการลวงว่าตนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งที่ตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนน จำเลยที่ 6 จึงกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 47 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 47 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างในฎีกาข้อต่อมาว่า สำหรับฟ้องข้อ 2.4 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนงบแสดงฐานะการเงินและรายการต่าง ๆ ในงบการเงินฉบับที่ส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงไม่ตรงตามรายการและจำนวนเงินที่นำเสนอในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ให้พิจารณาและอนุมัติ เพื่อลวงโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำงบการเงินฉบับที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และปรากฏตามรายงานผู้สอบบัญชีลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ว่าบริษัทเลือกมาตรฐานบัญชีแบบใหม่ และมีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ถาวรตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ทำให้สินทรัพย์ของบริษัทกลับไปอยู่ในราคาทุนไม่ใช่ราคาตลาดปัจจุบัน มีผลให้งบการเงินส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดทำบัญชีของบริษัทให้ขาดทุนลงอีกเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอีกเพื่อลวงให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ หลงเชื่อว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่ดีการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงทำให้เสียหาย หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และเป็นการโฆษณาโดยปกปิดบัญชี รายงาน หรือกิจการอื่นเกี่ยวกับบริษัทอันเป็นสาระสำคัญเพื่อลวงให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทนั้นให้ขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 เห็นว่า ความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าว ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องในข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างในฎีกาข้อต่อมาว่า สำหรับฟ้องข้อ 2.5 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันลงมติให้บริษัท น. กู้ยืมเงินจากธนาคาร ท. จำนวน 390,000,000 บาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ ก. ก่อนถึงกำหนดชำระเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเป็นเงิน 5,400,000 บาท ทั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อไถ่ถอนทรัพย์สินของบริษัทและนำไปเป็นหลักประกันกู้เงินให้แก่บริษัทอื่นซึ่งอยู่ในกลุ่มของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร ท. ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายต้องรับภาระโดยเป็นหนี้ค้ำประกันและจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่บริษัทอื่นในวงเงินรวม 5,110,000,000 บาท โดยบริษัทไม่มีส่วนได้เสียในเงินกู้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอน หลักประกันของบริษัท น. เห็นว่า การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทนั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างในฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้บรรยายฟ้องในข้อ 2.6 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดำเนินการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 และประธานในที่ประชุมได้แถลงให้ที่ประชุมทราบว่านายทะเบียนได้รับจดทะเบียนลดทุนตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 แล้วนั้น เป็นการโฆษณากล่าวอ้างว่า การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนลดทุนดังกล่าวเป็นเหตุให้หุ้นจำนวน 950,000 หุ้น สิ้นผลไปโดยอัตโนมัติ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญ เพื่อลวงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท น. ให้เข้าใจว่าหุ้นจำนวน 950,000 หุ้น ดังกล่าวสิ้นผลไปแล้ว ไม่สามารถจัดสรรแก่ผู้ถือหุ้นได้ ทำให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้จากบริษัท น. ซึ่งหมายความว่า การโฆษณากล่าวอ้างดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าหุ้นดังกล่าวสิ้นผลไปแล้วอันเป็นความเท็จ ซึ่งแท้จริงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีเจตนาจัดสรรหุ้นดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นก็จะขาดประโยชน์ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวอันเป็นประโยชน์อันควรได้จากการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน การบรรยายฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดแล้วนั้น เห็นว่า การแถลงของประธานในที่ประชุมดังกล่าวเป็นการแจ้งที่ประชุมว่า คณะกรรมการได้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการบริษัทไปในทิศทางอย่างไรเนื่องจากบริษัทเคยมีมติเพิ่มทุนแล้ว แต่ได้จัดสรรขายหุ้นเพิ่มทุนไปเพียงบางส่วนจึงยังคงเหลือหุ้นเพิ่มทุนที่ยังไม่ได้จัดสรรอีก การที่ประธานยังได้แถลงถึงการดำเนินการต่อจากนั้นว่า ต่อมาที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้ลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม และบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนลดทุนต่อกรมพัฒนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้วก็เป็นการเท้าความถึงการดำเนินการของบริษัทหลังจากมีมติพิเศษลดทุนกันแล้ว การที่ประธานยังได้กล่าวถึงผลจากการลดทุนซึ่งถือได้ว่าหุ้นที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เหลืออยู่นั้นสิ้นผลไปโดยอัตโนมัติ ก็เป็นเพียงความเห็นของประธานเกี่ยวกับหุ้นที่ยังไม่ได้จัดสรรขายดังกล่าวเพราะหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวตราบใดที่บริษัทมิได้ออกหุ้นใหม่เสนอขาย ก็ยังคงเป็นเพียงความประสงค์ของบริษัทที่หากยังต้องการเพิ่มทุนก็จะต้องดำเนินการต่อไปโดยออกหุ้นใหม่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อไม่มีข้อความตอนใดเป็นเท็จ การแถลงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาโดยอ้างถึงกิจการของบริษัทอันเป็นเท็จในสาระสำคัญแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.598/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ก. กับพวก จำเลย - นางสาว ก. กับพวก

ชื่อองค์คณะ วิไล จิวังกูร เฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช พนมวรรณ ทองวิทูโกมาลย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาตลิ่งชัน - นายธนวิทย์ ขำศรี ศาลอุทธรณ์ - นายกันตธรณ์ กันตธนาธรณ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE