คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8249/2555
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 4, 14, 31 วรรคสอง (2)
ป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกำหนดตามเขตพื้นที่ และไม้ก็หมายถึงไม้ทุกชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โดยไม่ได้จำแนกว่าเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองหรือมีคนปลูกขึ้นมา และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ตัดไม้ยูคาลิปตัสที่ชาวบ้านปลูกเองเป็นความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เพียงตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน หรือขุดไม้ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่าเข้าลักษณะ "ทำไม้" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสองตัดไม้ถึง 35 ท่อน แสดงถึงการตัดไม้จำนวนหลายต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเช่นใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระทำนี้ไม่มีผลให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2527 (ที่ถูก 2507) มาตรา 4, 14, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 31 วรรคสอง (2)) จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้องเพราะเจ้าหน้าที่เพิ่งขยายปักหลักเขตให้บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ และรถที่ใช้ในการเกษตรเป็นของบุคคลอื่นและจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ไม้ยูคาลิปตัส ชาวบ้านเป็นผู้ปลูกเอง ไม่ใช่ป่าไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติไม่ควรอยู่ในความหมายป่าสงวนแห่งชาติก็ดี การตัดไม้ยูคาลิปตัส กลับจะทำให้งอกขึ้นใหม่หนาแน่นกว่าเดิม เป็นการส่งเสริมไม่ใช่เป็นการทำลายป่าสงวนแห่งชาติก็ดี เห็นว่า ความเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกำหนดตามเขตพื้นที่ และไม้ก็หมายถึงไม้ทุกชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โดยไม่ได้จำแนกว่าเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองหรือมีคนปลูกขึ้นมาและการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เพียงตัดฟัน กาน โค่น ลิดเลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุดไม้ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่าเข้าลักษณะ "ทำไม้" ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสองตัดไม้ถึง 35 ท่อน แสดงถึงการตัดไม้เป็นจำนวนหลายต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเช่นใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระทำนี้ไม่มีผลให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)86/2553
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด จำเลย - นายสนิท ยุบลศรี กับพวก
ชื่อองค์คณะ วุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ พันวะสา บัวทอง วรพจน์ วิไลชนม์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด - นายทองพูน ตันอมาตยรัตน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายบุญชู ทัศนประพันธ์