คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1161, 1162
โดยปกติการจัดการบริษัทเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการทั้งหมดที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในส่วนของการประชุมกรรมการ มติของคณะกรรมการต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1161 แต่ปรากฏว่า กรรมการของจำเลยพิพาทกันในเรื่องการเงินของบริษัท และผู้ถือหุ้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีโจทก์กับ ภ. อีกฝ่ายมี ช. และ ป. ซึ่งแต่ละฝ่ายถือหุ้นของจำเลยครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่ากัน การที่ ช. ในฐานะกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการของจำเลย เป็นการใช้สิทธิของกรรมการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ ส่วนการกำหนดสถานที่ประชุมนั้น จำเลยไม่ได้มีข้อบังคับของบริษัทโดยเฉพาะ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่กำหนดว่าต้องจัดประชุม ณ สำนักงานของบริษัท การกำหนดสถานที่ประชุมจึงเป็นไปตามที่กรรมการพิจารณาเห็นสมควร โดยข้อสำคัญจะต้องเป็นสถานที่ซึ่งตามสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งสถานที่นั้นผู้ได้รับเชิญสามารถที่จะไปเข้าร่วมประชุมได้ เมื่อสภาพของสถานที่ประชุมน่าจะเป็นสำนักทำการงานปกติ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์แต่อย่างใดว่า การไปประชุมยังสถานที่ดังกล่าวจะเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับภยันตรายหรือจะมีบุคคลใดมาประทุษร้ายโจทก์ คงเป็นเพียงการคาดคิดของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวว่า อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการไปประชุม การประชุมคณะกรรมการและการลงมติเพื่อกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ดำเนินการโดยชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในครั้งนี้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยแบ่งหุ้นเป็น 200,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีผู้ถือหุ้น 4 คน คือ นายชวลิต นางประภาพร ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ถือหุ้นรวม 100,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้น 60,000 หุ้น และนางภัทรภร ถือหุ้น 40,000 หุ้น โดยโจทก์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2559 โจทก์ นายชวลิตและนางประภาพร เป็นกรรมการของจำเลย โดยโจทก์และนายชวลิตหรือนางประภาพร ลงลายมือชื่อร่วมกันมีอำนาจกระทำการผูกพันจำเลย ภายหลังโจทก์เข้าเป็นกรรมการ โจทก์กับนายชวลิตและนางประภาพรมีข้อพิพาทเรื่องการเงินของจำเลย ต่อมาโจทก์และนางภัทรภรเป็นโจทก์ฟ้องนายชวลิตและนางประภาพรเป็นจำเลยในคดีอาญา วันที่ 11 มกราคม 2559 นายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 18 มกราคม 2559 โดยมีวาระการประชุม เรื่องการกำหนดวาระ วัน เวลา และสถานที่ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 และวันที่ 18 มกราคม 2559 นายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 28 มกราคม 2559 จำเลยส่งหนังสือเชิญประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกคนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เมื่อถึงวันนัดประชุม โจทก์และนางภัทรภรไม่มาประชุมผู้ถือหุ้น มีแต่นายชวลิตและนางประภาพรเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการของจำเลยและเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้ลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเป็นนายชวลิตลงลายมือชื่อร่วมกับนางประภาพร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์โต้แย้งในเรื่องการกำหนดสถานที่ประชุม แม้โจทก์เบิกความถึงการที่นายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2559 โดยนัดประชุม ณ บ้านเลขที่ 155/19 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานทนายความที่แก้ต่างคดีอาญาให้นายชวลิตและนางประภาพรผู้เป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ เป็นการผิดประเพณีปฏิบัติที่จำเลยเคยจัดประชุม ณ ที่ตั้งสำนักงาน และเป็นการกำหนดสถานที่ประชุมที่ไม่เหมาะสมโดยมีเจตนาไม่สุจริต ซึ่งการนำสืบดังกล่าวเป็นเรื่องการประชุมคณะกรรมการไม่ชอบ หาใช่เป็นเรื่องไม่มีการประชุมคณะกรรมการก่อนการเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ตาม แต่ที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ว่า เมื่อการประชุมคณะกรรมการไม่ชอบก็เท่ากับไม่มีการประชุม จึงไม่ได้มีมติคณะกรรมการให้จัดประชุมวิสามัญผู้หุ้น ครั้งที่ 1/2559 เป็นผลให้การนัดเรียกประชุมและการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวไม่ชอบ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องในเรื่องที่มีการกำหนดสถานที่ประชุมไม่ชอบไว้แล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นแห่งคดี มิใช่เป็นการที่โจทก์นำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยฎีกา ส่วนปัญหาว่าการที่นายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2559 และหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 โดยจัดประชุม ณ บ้านเลขที่ 155/19 เป็นการเชิญประชุมที่ชอบหรือไม่นั้น โดยปกติการจัดการบริษัทเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการทั้งหมดที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในส่วนของการประชุมกรรมการ มติของคณะกรรมการต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1161 แต่ปรากฏว่า กรรมการของจำเลยพิพาทกันในเรื่องการเงินของบริษัท และผู้ถือหุ้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีโจทก์กับนางภัทรภร อีกฝ่ายมีนายชวลิตและนางประภาพร ซึ่งแต่ละฝ่ายถือหุ้นของจำเลยครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่ากัน นอกจากนี้โจทก์และนางภัทรภรฟ้องนายชวลิตและนางประภาพรในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของจำเลย และความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการจัดการงานของจำเลย ต่อมาเมื่อจำเลยจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งถอดถอนกรรมการและกำหนดอำนาจกรรมการ ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการ โจทก์ก็ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมครั้งดังกล่าว ระหว่างที่เกิดข้อพิพาทกันนั้น แต่ละฝ่ายต่างมุ่งที่จะรักษาสิทธิของตน การที่นายชวลิตในฐานะกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการของจำเลย เป็นการใช้สิทธิของกรรมการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ ส่วนการกำหนดสถานที่ประชุมนั้น จำเลยไม่ได้มีข้อบังคับของบริษัทโดยเฉพาะ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่กำหนดว่าต้องจัดประชุม ณ สำนักงานของบริษัท แม้แต่เดิมมีการประชุมที่สำนักงานของจำเลย แต่ก็มิได้เป็นการผูกมัดหรือต้องถือปฏิบัติว่า สถานที่ประชุมต้องเป็นที่ตั้งสำนักงานของจำเลยเท่านั้น ฝ่ายโจทก์เองก็เคยออกหนังสือเชิญประชุมกรรมการ ซึ่งมิได้กำหนดสถานที่ประชุม ณ สำนักงานของจำเลยที่อาคารศุภาลัยเพลส เลขที่ 179/48 แต่กำหนดสถานที่ประชุมเป็นห้องเลขที่ 179/281 ในอาคารดังกล่าว การกำหนดสถานที่ประชุมจึงเป็นไปตามที่กรรมการพิจารณาเห็นสมควร โดยข้อสำคัญจะต้องเป็นสถานที่ซึ่งตามสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งสถานที่นั้นผู้ได้รับเชิญสามารถที่จะไปเข้าร่วมประชุมได้ การกำหนดบ้านเลขที่ 155/19 เป็นสถานที่ประชุม แม้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานของทนายความที่แก้ต่างให้นายชวลิตและนางประภาพรในคดีที่โจทก์ฟ้องบุคคลทั้งสองในความผิดฐานยักยอก แต่ตามสภาพของสถานที่ดังกล่าวก็น่าจะเป็นสำนักทำการงานปกติ และมิได้เป็นสถานที่ซึ่งยากแก่การเข้าถึง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับเชิญให้ไปประชุมสามารถเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์แต่อย่างใดว่า การไปประชุมยังสถานที่ดังกล่าวจะเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับภยันตรายหรือจะมีบุคคลใดมาประทุษร้ายโจทก์ คงเป็นเพียงการคาดคิดของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวว่าอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการไปประชุม ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การประชุมในสถานที่ดังกล่าวไม่เป็นกลางและไม่อาจจะดำเนินการประชุมได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมนั้น เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงว่านายชวลิตและนางประภาพรเป็นกรรมการฝ่ายเสียงข้างมาก ส่วนโจทก์เป็นเสียงข้างน้อย การลงมติของกรรมการขึ้นอยู่กับเสียงของนายชวลิตและนางประภาพร หากโจทก์มีความเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายนายชวลิต โจทก์ก็ต้องแพ้มติอยู่นั่นเอง นายชวลิตย่อมต้องการให้โจทก์มาประชุมเพื่อชี้ขาดด้วยผลการลงมติอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่าจะกระทำการให้มีข้อตำหนิในเรื่องการประชุมไม่เป็นธรรม แต่โจทก์กลับหาเหตุโต้แย้งการเรียกประชุมของนายชวลิต ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นเพราะโจทก์คาดเห็นอยู่แล้วว่า หากมีการลงมติของคณะกรรมการให้นัดเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีมติถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการของจำเลย เมื่อนายชวลิตเชิญประชุมคณะกรรมการโดยกำหนดสถานที่ประชุมซึ่งโจทก์สามารถไปเข้าร่วมประชุมได้โดยไม่มีเหตุอันใดขัดขวาง แต่โจทก์กลับไม่ไปประชุมเอง เช่นนี้ ที่โจทก์อ้างว่า การกำหนดสถานที่ประชุมดังกล่าวไม่เหมาะสมและไม่สุจริต จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การประชุมคณะกรรมการและการลงมติเพื่อกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ดำเนินการโดยชอบแล้ว ต่อมาเมื่อนายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 28 มกราคม 2559 เวลา 10 นาฬิกา ณ บ้านเลขที่ 155/19 ตามมติของคณะกรรมการ และจำเลยส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนแล้ว การบอกกล่าวนัดประชุมเป็นไปตามที่มาตรา 1175 วรรคสอง บัญญัติว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน สำหรับสถานที่ประชุม การกำหนดให้ประชุม ณ บ้านเลขที่ 155/19 ตามเดิม เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่เห็นชอบเช่นนั้น ทั้งเป็นดังที่พิจารณามาข้างต้นแล้วว่า สถานที่ดังกล่าวโจทก์และผู้ถือหุ้นสามารถเข้าไปประชุมได้ ฝ่ายนายชวลิตและนางประภาพรซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นหาได้กีดกัน ทำอันตรายหรือขัดขวางการเข้าประชุมของโจทก์ และไม่มีพฤติการณ์อันใดที่จะแสดงว่าการประชุม ณ สถานที่ดังกล่าว จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า การจัดประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น ณ บ้านเลขที่ 155/19 ไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายโจทก์ ซึ่งเท่ากับจำเลยโดยนายชวลิตใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อคดีรับฟังได้ว่า นายชวลิตออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2559 และหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 โดยชอบ การนัดเรียกและการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 จึงดำเนินการชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พณ.23/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อ. จำเลย - บริษัท บ.
ชื่อองค์คณะ นิพนธ์ พิชยพาณิชย์ พศวัจณ์ กนกนาก สมเกียรติ เจริญสวรรค์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายนรพัทธ์ นามวงศ์ ศาลอุทธรณ์ - นายสถาพร ประสารวรรณ