คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 73 ทวิ, 74, 76, 77, 170 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 49 วรรคห้า, 59 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ม. 22 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3 พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ม. 6 ประกาศคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ เรื่อง ให้ใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2557
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งรวมถึงการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฏฐ ด้วย การที่ภายหลังจากศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นต่อศาล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามรวมทั้ง ฐ. ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบเพื่อใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว การส่งหนังสือของเลขาธิการจึงเป็นการส่งคำคู่ความหรือเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นประการหนึ่ง เพียงแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เลขาธิการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ทั้งยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าให้ส่งไปยังที่อยู่ครั้งสุดท้ายของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน การส่งหนังสือของเลขาธิการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมมีผลเป็นการส่งตามหลักเกณฑ์การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ที่กำหนดในไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ในคดีนี้ ซึ่งกำหนดให้ต้องนำจ่ายด้วยการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้รับที่มีชื่อระบุอยู่บนจ่าหน้า หรือผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับ โดยต้องนำจ่าย ณ ที่ทำการหรือ ณ ที่อยู่ของผู้รับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ข้อ 59 ถึงข้อ 63 ดังนั้น การส่งหนังสือของเลขาธิการไปยังผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ที่ส่งไม่ได้เพราะบ้านปิดและไม่มีผู้มารับที่ที่ทำการไปรษณีย์ในกำหนดเวลา อันเป็นการนำจ่ายให้แก่ผู้รับไม่ได้และพนักงานไปรษณีย์ต้องส่งหนังสือคืนผู้ฝากตามข้อ 64 นั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า โดยเมื่อมีข้อขัดข้องในการส่งหนังสือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย อันเป็นข้อขัดข้องในการส่งคำคู่ความและเอกสารตาม ป.วิ.พ. จึงชอบที่เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินการส่งโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดใน ป.วิ.พ. ต่อไป ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์ เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกอื่นที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทราบ เพื่อยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี มิได้หมายถึงผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก จะถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ทราบคำร้องของผู้ร้องหาได้ไม่
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน บัญชีเงินฝาก 22 รายการ และที่ดิน 5 รายการ รวมราคา 35,703,103.32 บาท ตามบัญชีทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินรายนางศรัณยากับพวกพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คดีถึงที่สุดแล้ว
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ผู้คัดค้านทั้งสามต่างยื่นคำร้องคนละ 1 ฉบับ ใจความทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ผู้คัดค้านทั้งสามไม่ทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากบุคคลที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งประกาศของศาลชั้นต้น (ประกาศศาลแพ่ง) ให้คือนายผนิกร และนางเหนียว ซึ่งไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ประกาศของศาลชั้นต้นที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอ้างว่าได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า ประกอบมาตรา 51 มิใช่ประกาศของศาลชั้นต้นในคดีนี้ แต่เป็นประกาศในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.15/2559 สถานีตำรวจที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอ้างว่าได้ดำเนินการ (น่าจะหมายถึงปิดสำเนาประกาศศาลแพ่ง) เป็นสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งทรัพย์สินตั้งอยู่ สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งทรัพย์สินตั้งอยู่คือสถานีตำรวจภูธรชุมแพ ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่ลงประกาศของศาลชั้นต้นในคดีนี้ก็มิใช่หนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น อันเป็นภูมิลำเนาของผู้คัดค้านทั้งสาม การดำเนินการไม่ถูกต้องดังกล่าวปรากฏแล้วในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานตามคำร้องของผู้ร้องต่อไปและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า ประกอบมาตรา 51 ผู้คัดค้านทั้งสามถูกพนักงานอัยการฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ระหว่างสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ทนายความของโจทก์ร่วมอ้างคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินเป็นพยานเอกสาร ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงให้ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรสาวมาขอดูสำนวนคดีนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 จึงทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินโดยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการไม่ถูกต้องและศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังกล่าว และเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันนัดไต่สวนคำร้องเป็นต้นไป
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามรวม 27 รายการ รวมราคาประเมิน 35,703,103.32 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน และให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย 45 ราย รวม 54 รายการ รวมราคาประเมิน 17,715,000 บาท พร้อมกันนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรวม 81 รายการ ของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกไว้ชั่วคราวเป็นการด่วนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 55 ศาลชั้นต้นรับคำร้องคดีนี้ไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.11/2559 แล้วไต่สวนคำร้องที่ขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวในวันนั้น และมีคำสั่งในวันเดียวกันให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราวแล้วมีหมายไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแจ้งคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งนางสาวทิพย์วรรณ พนักงานสืบสวนชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการคดี 2 กองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินลงลายมือชื่อรับหมายไปในวันนั้นแล้วตามสำเนาหมายอายัดชั่วคราวเอกสารสารบาญอันดับที่ 11 ในสำนวน จากนั้นศาลชั้นต้นออกประกาศศาลแพ่ง เรื่องร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินคดีหมายเลขดำฟอกเงิน ฟ.11/2559 ระบุนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เวลา 9 นาฬิกา ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งส่งประกาศศาลแพ่งดังกล่าวไปให้หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในราชอาณาจักรและในท้องถิ่นลงประกาศศาลแพ่งดังกล่าว 2 วัน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งทำการแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีหนังสือและส่งสำเนาประกาศศาลแพ่งดังกล่าวและสำเนาบัญชีทรัพย์สินรวม 3 ชุด ไปให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า จากนั้นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งสำเนาหมายอายัดชั่วคราว สำเนารายงานกระบวนพิจารณา สำเนาคำสั่ง และสำเนาบัญชีทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 1 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 2/24 หมู่ที่ 10 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ที่บ้านเลขที่ 1216 หมู่ที่ 1 ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และส่งให้แก่นายณัฏฐ์ที่บ้านเลขที่ 2/24 หมู่ที่ 10 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่สามารถส่งได้เพราะบ้านปิด และผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ไม่ไปรับไปรษณีย์ดังกล่าว ณ ที่ทำการไปรษณีย์ภายในกำหนด นางสาวทิพย์วรรณจึงมอบหมายให้นายพิเชฐ และนายชัยวัฒน์ ไปปิดหมายอายัดชั่วคราวที่บ้านสามหลังดังกล่าวโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจไปด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งหนังสือแจ้งประกาศศาลแพ่งและสำเนาประกาศศาลแพ่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และนายณัฏฐ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 1 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 2/24 หมู่ที่ 10 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และส่งให้แก่นายณัฏฐ์ที่บ้านเลขที่ 2/24 หมู่ที่ 10 ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่สามารถส่งได้เพราะบ้านปิด และผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนายณัฏฐ์ไม่ไปรับไปรษณีย์ดังกล่าว ณ ที่ทำการไปรษณีย์ภายในกำหนด จากนั้นกรรมการบริหารบริษัทสารสู่อนาคต จำกัด ผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งว่าหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ลงประกาศศาลแพ่งดังกล่าวในวันที่ 4 เมษายน 2559 และวันที่ 5 เมษายน 2559 แล้ว ผู้คัดค้านทั้งสามไม่ยื่นคำคัดค้าน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ศาลชั้นต้นจึงไต่สวนพยานหลักฐานไปฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า โดยชอบแล้วหรือไม่ และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "… ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว" และวรรคห้าบัญญัติว่า "เมื่อศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาลแล้ว ให้ศาลสั่งให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลนั้น และประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอก่อนศาลมีคำสั่งกับให้ศาลสั่งให้ส่งสำเนาประกาศไปยังเลขาธิการเพื่อปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและสถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อใช้สิทธิดังกล่าว การแจ้งนั้นให้แจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า เมื่อศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว กฎหมายกำหนดหน้าที่ของศาลและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ดำเนินการไว้ในขั้นตอนที่ต่างกัน โดยกำหนดหน้าที่ของศาลให้ดำเนินการดังนี้
ให้ศาลสั่งให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลที่รับคำร้องนั้น
ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอ (คำคัดค้าน) ก่อนศาลมีคำสั่งว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่
ส่งสำเนาประกาศไปยังเลขาธิการเพื่อปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและสถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
ในสามข้อนี้ผู้คัดค้านทั้งสามไม่ได้ฎีกาคัดค้านจึงฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ชอบแล้ว ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายบัญญัติว่าเมื่อได้รับสำเนาประกาศจากศาลแล้วให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีหน้าที่ 3 ประการ ดังนี้
ปิดสำเนาประกาศของศาลดังกล่าวไว้ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
จัดให้ปิดสำเนาประกาศของศาลดังกล่าวไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อใช้สิทธิดังกล่าว การแจ้งนั้นให้แจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน
การดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในข้อ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งจึงฟังเป็นยุติว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามข้อ 1 ถูกต้องแล้ว ส่วนการดำเนินการตามข้อ 2 และข้อ 3 ผู้คัดค้านทั้งสามยังฎีกาโต้แย้งอยู่
ปัญหาที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า พนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามตามจ่าหน้าได้ และไม่มีผู้มารับไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าว ณ ที่ทำการไปรษณีย์ภายในกำหนด ถือไม่ได้ว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามทราบโดยชอบแล้วนั้น เห็นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเช่นในคดีนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 170 วรรคสอง บัญญัติว่า "…การฟ้อง การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น นอกจากจะต้องบังคับตามบทบัญญัติทั่วไปแห่งภาค 1 แล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ด้วย" ซึ่งมีความหมายว่า การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั่วไปของมาตรา 1 ถึงมาตรา 169/3 และมาตรา 170 ถึงมาตรา 188 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งรวมถึงการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฎฐ ด้วย กรณีนี้เมื่อภายหลังจากศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นต่อศาลแล้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามรวมทั้งนายณัฏฐ์ ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบเพื่อใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน ซึ่งเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว การส่งหนังสือของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดังกล่าวจึงเป็นการส่งคำคู่ความหรือเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นประการหนึ่ง เพียงแต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้ดำเนินการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ทั้งยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าให้ส่งไปยังที่อยู่ครั้งสุดท้ายของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน การส่งจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้นำมาตรา 74 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาใช้บังคับโดยอนุโลม อันเป็นกฎเกณฑ์ของการส่งคำคู่ความโดยทั่วไป ได้แก่ ไม่ต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้นั้น และกรณีไม่พบผู้นั้น การส่งเอกสารให้บุคคลซึ่งอยู่หรือทำการงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้นั้น ไม่จำต้องเป็นบุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ การส่งหนังสือของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมมีผลเป็นการส่งตามหลักเกณฑ์การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ที่กำหนดในไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ในคดีนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และโดยอำนาจของคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ต้องนำจ่ายด้วยการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้รับที่มีชื่อระบุอยู่บนจ่าหน้า หรือผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับ โดยต้องนำจ่าย ณ ที่ทำการหรือ ณ ที่อยู่ของผู้รับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ข้อ 59 ถึงข้อ 63 ดังนั้น การส่งหนังสือของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปยังผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ที่ส่งไม่ได้เพราะบ้านปิดและไม่มีผู้มารับที่ที่ทำการไปรษณีย์ในกำหนดเวลา อันเป็นการนำจ่ายให้แก่ผู้รับไม่ได้และพนักงานไปรษณีย์ต้องส่งหนังสือคืนผู้ฝากตามข้อ 64 นั้น จึงถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหนังสือนั้นให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าการส่งหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ไปยังที่อยู่ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนราษฎรนั้นชอบหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีข้อขัดข้องในการดำเนินการส่งหนังสือแก่ผู้มีส่วนได้เสียตามที่มาตรา 49 วรรคห้ากำหนด อันเป็นข้อขัดข้องในการส่งคำคู่ความและเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงชอบที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะแจ้งให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินการส่งโดยวิธีอื่นใดตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องไปและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้อง โดยยังมิได้ดำเนินการส่งหนังสือให้ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์เพื่อใช้สิทธิคัดค้าน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่น และการส่งคำคู่ความและเอกสาร เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่เคยส่งเอกสารใดตั้งแต่ในชั้นตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และชั้นอายัดชั่วคราวตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ได้ด้วยเหตุที่บ้านปิดตลอดมา ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์จึงไม่มีพฤติการณ์ไม่สุจริตหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการส่งให้ ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงประกาศคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกอื่นที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทราบ เพื่อยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี มิได้หมายถึงผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก ซึ่งจะถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์ทราบคำร้องของผู้ร้องหาได้ไม่ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา มีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องการพิจารณาคดีและการส่งคำคู่ความและเอกสารให้ครบถ้วนก่อน ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า สำเนาหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นเป็นเอกสารที่ส่งเข้ามาในสำนวนโดยพยานผู้ร้องมิได้เบิกความยืนยันว่าเป็นเอกสารที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งประกาศให้ผู้คัดค้านทั้งสามทราบ และสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้นำสำเนาประกาศศาลแพ่งไปปิดไว้ในส่วนการดำเนินการตามข้อ 2 ไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินในคดีนี้ตั้งอยู่นั้น เห็นว่า นางสาวทิพย์วรรณพยานผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีนี้แล้ว ได้แจ้งประกาศศาลแพ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและนายณัฏฐ์โดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังภูมิลำเนาของบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ยังปิดประกาศ ณ สถานีตำรวจที่ทรัพย์สินตั้งอยู่และปิดประกาศที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกาศศาลแพ่งที่ผู้ร้องส่งให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสาม จากคำเบิกความดังกล่าวถือว่านางสาวทิพย์วรรณพยานผู้ร้องเบิกความถึงความเป็นมาของการที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขอให้ปิดประกาศศาลแพ่ง ณ สถานีตำรวจที่ทรัพย์สินตั้งอยู่แล้ว และเมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องขอความร่วมมือปิดประกาศศาลแพ่ง ลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 จำนวน 10 ฉบับแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่พันตำรวจโทณรงค์ฤทธิ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองคดี 2 ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกหนังสือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดขอนแก่น 4 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรชุมแพ สถานีตำรวจภูธรหนองเรือ สถานีตำรวจภูธรสีชมพู และสถานีตำรวจภูธรพระยืน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดชัยภูมิ 5 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรภูเขียว สถานีตำรวจภูธรเกษตรสมบูรณ์ สถานีตำรวจภูธรบ้านแท่น สถานีตำรวจภูธรบ้านเป้า และสถานีตำรวจภูธรคอนสาร และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดหนองบัวลำภู 1 แห่ง คือสถานีตำรวจภูธรศรีบุญเรือง ขอให้ปิดสำเนาประกาศศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำฟอกเงิน ฟ.11/2559 จำนวน 17 แผ่น ไว้ที่สถานีตำรวจแต่ละแห่งดังกล่าว รวมทั้งเมื่อพิจารณาสำเนาแบบตอบรับการดำเนินการปิดประกาศ จำนวน 6 ฉบับแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่สถานีตำรวจ 6 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรเกษตรสมบูรณ์ สถานีตำรวจภูธรบ้านแท่น สถานีตำรวจภูธรบ้านเป้า สถานีตำรวจภูธรคอนสาร สถานีตำรวจภูธรพระยืน และสถานีตำรวจภูธรศรีบุญเรืองตอบกลับมายังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินว่าสถานีตำรวจทั้ง 6 แห่ง ได้ปิดสำเนาประกาศศาลแพ่งดังกล่าวให้ตามความประสงค์เรียบร้อยแล้ว เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการและจัดทำขึ้นจากหลายหน่วยงานย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ จึงฟังได้ว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจัดให้ปิดสำเนาประกาศของศาลดังกล่าวไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่เท่าที่ทำได้และเพียงพอที่จะทำให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบและใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านได้ เป็นการดำเนินการที่ชอบตามมาตรา 49 วรรคห้าแล้ว ส่วนกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งสำเนาประกาศศาลแพ่งไปปิดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินในคดีนี้ตั้งอยู่นั้น เอกสารการส่งสำเนาประกาศและการปิดสำเนาประกาศศาลแพ่งดังกล่าวเป็นกรณีการดำเนินการในคดีหมายเลขดำฟอกเงิน ฟ.15/2559 ซึ่งเป็นคดีอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดสับสนในการอ้างพยานหลักฐาน ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษผู้คัดค้านทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ย่อมส่งผลให้ศาลยกคำร้องที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีนี้ได้นั้น เมื่อได้วินิจฉัยเรื่องการส่งหนังสือตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้ามาแล้วข้างต้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสามอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินของศาลชั้นต้น และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ทรัพย์สิน บัญชีเงินฝาก 22 รายการ และที่ดิน 5 รายการ รวมราคา 35,703,103.32 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลชั้นต้นแจ้งกำหนดนัดไต่สวนคำร้องใหม่ให้ผู้คัดค้านทั้งสามและผู้อื่นซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบ เพื่อให้ผู้คัดค้านทั้งสามและผู้อื่นนั้นมีโอกาสยื่นคำคัดค้าน จากนั้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.5/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นาง ศ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ เรวัตร สกุลคล้อย เสรี เพศประเสริฐ นพรัตน์ สี่ทิศประเสริฐ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นางสาวจรรยา สีเจริญ ศาลอุทธรณ์ - นายประทีป เหมือนเตย