คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 158 (7), 198, 208 (2), 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27
คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมี ว. ทนายความเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดย ว. มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) บัญญัติให้ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 364,365, 391, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, 364, 365(1)(3), 391 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุกและฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 364 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์ที่ทนายความได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์โดยไม่มีใบแต่งทนายความเพราะจำเลยเป็นชาวบ้านไม่ทราบข้อกฎหมาย ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ให้จำเลยจัดทำอุทธรณ์ใหม่ให้ถูกต้องแล้วรอการลงโทษแก่จำเลย หรือย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาคดีใหม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน และมาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อปรากฏว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีนายวิชชุกร สงวนชาติ ทนายความเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยนายวิชชุกรมิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลย - นาย ทวีศักดิ์ กรุดมินบุรี
ชื่อองค์คณะ สกนธ์ กฤติยาวงศ์ ทองหล่อ โฉมงาม ธำรงศักดิ์ ขมะวรรณ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan