สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2, 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 148 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ม. 57 วรรคหนึ่ง (1), 97 วรรคหนึ่ง, 118

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น มิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 3

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 8, 57, 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามมีกำหนด 10 ปี

จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1), 118 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1), 118 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้แทนหรือผู้สนับสนุนและหาเสียงให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดตามฟ้องโดยจำเลยที่ 1 ได้ก่อ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ได้กระทำการให้เงิน 500 บาท แก่บุคคลผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้เงิน 500 บาท แก่นางประทีปทอง และนางลำไพ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ให้เงิน 500 บาท แก่นางบัวไข ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งน้อยเพื่อจูงใจให้บุคคลทั้งสามลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการให้เงินซึ่งเป็นทรัพย์เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก่อนฟ้องคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งน้อยที่กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 27 เมษายน 2557 ตามประกาศให้มีการเลือกตั้งของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งน้อย ลงวันที่ 21 มีนาคม 2557 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันมีคำสั่ง ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีเลือกตั้งหมายเลขแดงที่ 2543/2558

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ได้กระทำการให้เงิน 500 บาท แก่บุคคลผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้เงิน 500 บาท แก่นางประทีปทอง และนางลำไพ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ให้เงิน 500 บาท แก่นางบัวไข ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งน้อยเพื่อจูงใจให้บุคคลทั้งสามลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการให้เงินซึ่งเป็นทรัพย์เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะให้เงินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนวนเท่าใด เมื่อใด และที่ใด หรือบอกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปกระทำความผิดอย่างไร และเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำไปมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มาอย่างไร เป็นเงินจำนวนเท่าใด และเป็นเงินของผู้ใด มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดที่จะต้องบรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้อีกหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปีในคดีก่อนเป็นคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่กรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากการกระทำการทุจริตการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57, 60, 97 วรรคหนึ่ง ในส่วนวิธีการและการจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้สิทธิแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งในการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกหรือการเลือกตั้งหรือนับคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือมีการฝ่าฝืนมาตรา 57 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนดเวลาหนึ่งปี…" และวรรคสองบัญญัติว่า "ให้นำความในมาตรา 96 มาใช้บังคับกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรานี้โดยอนุโลม" โดยมาตรา 96 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครคนใดแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครผู้นั้นด้วย" โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าวจะขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครเลือกตั้งผู้นั้นอีกไม่ได้ซึ่งการดำเนินคดีอาญาก็เป็นไปตามมาตรา 118 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 57 มาตรา 60… ต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี" ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 วรรคหนึ่ง และมาตรา 239 วรรคท้าย ให้นำบทบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นโดยอนุโลม ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นสมควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งรวมถึงศาลอุทธรณ์ภาค ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 3 ประกอบกับในคดีอาญาจำเลยสามารถให้การปฏิเสธและมีสิทธินำสืบถึงข้อเท็จจริงหักล้างข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนว่ามิได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ได้ ซึ่งอาจเป็นผลให้ศาลวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับการวินิจฉัยคำฟ้องของพนักงานอัยการแตกต่างกันได้แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ในคดีอาญาพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดและลงโทษจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 97 และมาตรา 118 แยกออกจากกันคนละส่วนโดยเด็ดขาดเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่งและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น จึงมิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดสิบปี ตามบทบัญญัติมาตรา 118 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้น ตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในส่วนของโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง แต่ส่วนของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 118 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2905/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด จำเลย - นาย บ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ยงยุทธ แสงรุ่งเรือง กึกก้อง สมเกียรติเจริญ สรศักดิ์ จันเกษม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด - นายพงศ์พัฒน์ ตาชูชาติ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายเกรียงศักดิ์ ดำรงศักดิ์ศิริ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE