คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1169
การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นการที่ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัท ส่วนการทำบันทึกข้อตกลงที่ พ. และโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อตกลงกันว่า ตามที่ฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ทั้งสองฝ่ายสามารถระงับข้อพิพาทกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อหุ้นของ พ. และโจทก์ผู้ขายทั้งสองซึ่งมีอยู่ในบริษัทรวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระค่าหุ้นภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว พ. และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีเช่นนี้เป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น โดย พ. และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นจากฝ่ายตน เมื่อ พ. และโจทก์ขายหุ้นในบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิบริหารบริษัทแต่ผู้เดียว เป็นทำนองให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทซึ่งมีความขัดแย้งด้านการบริหารขายหุ้นและออกไปจากบริษัท ซึ่งหากมีการซื้อขายหุ้นตามที่ตกลงกันแล้ว พ. และโจทก์ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทอีก จึงเป็นข้อตกลงที่ผูกพันกันด้วยฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นการระงับสิทธิเรียกร้องในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น จึงหาได้มีผลเป็นการตกลงสละการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าหุ้นตามข้อตกลง โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท นำสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบริษัทไปซื้อหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่บริษัทไม่ยอมฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีแทนบริษัทเพื่อเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 อันเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนสินทรัพย์พร้อมค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทมาสโลหะกิจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 45,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะคืนสินทรัพย์และใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือดอกผลแก่บริษัทมาสโลหะกิจ (ประเทศไทย) จำกัด เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาและได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า บริษัทมาสโลหะกิจ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2547 มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 1,000,000 บาท ต่อมาเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,000,000 บาท แบ่งเป็น 40,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท โจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าถือหุ้นตั้งแต่ปี 2547 จำเลยที่ 2 เข้าถือหุ้นช่วงปี 2551 แล้วขายหุ้น และในปี 2552 เข้าถือหุ้นอีกครั้ง ส่วนโจทก์เข้าถือหุ้นตั้งแต่ปี 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทตั้งแต่ปี 2551 จนเมื่อเดือนมกราคม 2558 จำเลยที่ 3 เสนอขายหุ้นของบริษัทที่ถืออยู่ทั้งหมด 8,000 หุ้น และแจ้งขอลาออกจากการเป็นกรรมการ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะกรรมการบริษัทจัดทำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มีชื่อนายคเชนทร์ เข้าเป็นผู้ถือหุ้น 8,000 หุ้น ซึ่งเดิมเป็นหุ้นของจำเลยที่ 3 จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 3 ออกจากกรรมการ และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นกรรมการแทน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทแต่ผู้เดียว ที่จำเลยที่ 3 ขายหุ้นในราคา 30,000,000 บาท มีการชำระค่าหุ้นโดยตีราคาทรัพย์สินของบริษัทหักชำระและจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 3 จำนวน 11 ฉบับ จากมูลเหตุการซื้อขายหุ้นดังกล่าว นายพรชัยหรือศรัณย์ น้องชายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอีกคนของบริษัทฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3464/2560 ของศาลแขวงสงขลา ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าว มีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทกัน วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 คู่ความทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท ซึ่งโจทก์เข้าร่วมผูกพันตามข้อตกลงด้วย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อหุ้นของบริษัทในส่วนของนายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์รวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินได้ ยอมให้เรียกเบี้ยปรับเป็นเงิน 4,000,000 บาท เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว นายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก เมื่อทำบันทึกข้อตกลงกันแล้ว นายพรชัยหรือศรัณย์ขอถอนฟ้องคดีอาญา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องโดยยกข้อโต้เถียงว่ามีการทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3464/2560 ของศาลแขวงสงขลา ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ระงับไปก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงเรื่องจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3464/2560 ของศาลแขวงสงขลา และมีการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาท โดยโจทก์เข้าร่วมผูกพันด้วย ซึ่งปรากฏรายละเอียดในสำนวนคดีอาญาดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป การใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ของโจทก์ย่อมระงับสิ้นไป คงมีแต่สิทธิเรียกร้องในการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 เป็นการที่ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัท ส่วนการทำบันทึกข้อตกลง นายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อตกลงกันว่า ตามที่ฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ทั้งสองฝ่ายสามารถระงับข้อพิพาทกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อหุ้นของนายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์ผู้ขายทั้งสองซึ่งมีอยู่ในบริษัทรวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระค่าหุ้นภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว นายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก ไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีเช่นนี้เป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น โดยนายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นจากฝ่ายตน เมื่อนายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์ขายหุ้นในบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิบริหารบริษัทแต่ผู้เดียว เป็นทำนองให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทซึ่งมีความขัดแย้งด้านการบริหารขายหุ้นและออกไปจากบริษัท ซึ่งหากมีการซื้อขายหุ้นตามที่ตกลงกันแล้ว นายพรชัยหรือศรัณย์และโจทก์ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทอีก จึงเป็นข้อตกลงที่ผูกพันกันด้วยฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นการระงับสิทธิเรียกร้องในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น จึงหาได้มีผลเป็นการตกลงสละการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าหุ้นตามข้อตกลง โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท นำสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบริษัทไปซื้อหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่บริษัทไม่ยอมฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีแทนบริษัทเพื่อเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 อันเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ให้การและนำสืบรับว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เกิดปัญหาขัดแย้งกัน จำเลยที่ 3 ไม่ต้องการถือหุ้นของบริษัทต่อไป จึงมีการประชุมกรรมการบริหารบริษัท โดยจำเลยที่ 3 ได้เสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ 8,000 หุ้น และขอค่าตอบแทนการบริหาร รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้เงินของบริษัทซื้อหุ้นจากจำเลยที่ 3 โดยใส่ชื่อนายคเชนทร์เป็นผู้ถือหุ้นแทนบริษัท สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ความว่า บุคคลทั้งสองเป็นพี่น้องกัน และในการประชุมให้บริษัทรับซื้อหุ้นจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้จัดการ เมื่อจำเลยที่ 3 ขายหุ้นและลาออกจากกรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 เข้าเป็นกรรมการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ทั้งในการนำชื่อนายคเชนทร์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในส่วนหุ้นที่จำเลยที่ 3 ขายไป จำเลยที่ 2 รับรู้มาแต่ต้นว่านายคเชนทร์เป็นตัวแทนในการถือหุ้นดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ร่วมลงชื่อในบันทึกข้อตกลง ให้นายคเชนทร์ถือหุ้นแทนบริษัท ส่วนจำเลยที่ 3 รับรู้ตลอดมาว่า การขายหุ้นของตนเอง ไม่ได้มีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นในบริษัท และมีการชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 โดยนำทรัพย์สินของบริษัทมาหักชำระ ซึ่งต้องมีการโอนที่ดิน 3 แปลง สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และสิทธิในเงินให้กู้ยืมตีราคาเป็นค่าหุ้น 8,000,000 บาท และบริษัทจ่ายเงินค่าหุ้น 22,000,000 บาท โดยจ่ายในครั้งแรก 10,000,000 บาท ส่วนอีก 12,000,000 บาท ผ่อนจ่ายโดยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า ได้แจ้งยกเลิกการเสนอขายหุ้นให้บริษัท เพราะตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิได้หาบุคคลอื่นมาซื้อหุ้นของตนเอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดการนำชื่อนายคเชนทร์ซึ่งทำงานกับจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว มาเป็นผู้ซื้อหุ้น จำเลยที่ 3 ก็ทำสัญญาโอนขายหุ้นให้แก่นายคเชนทร์ และร่วมกับจำเลยที่ 1 จัดทำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มีชื่อนายคเชนทร์เข้าถือหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ไปยื่นต่อนายทะเบียน และจำเลยที่ 3 ยังรับทรัพย์สินและเงินจากบัญชีของบริษัทซึ่งมีการผ่อนชำระโดยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ชัดว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการขายหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้แก่บริษัทโดยใส่ชื่อนายคเชนทร์ไว้แทน ซึ่งเป็นการโอนขายหุ้นเพื่อให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1143 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง และการนำทรัพย์สินของบริษัทไปชำระค่าหุ้นโดยที่บริษัทไม่อาจจะถือหุ้นของตนเองได้กระทบต่อฐานะการเงินและทุนจดทะเบียน ทำให้ทรัพย์สินและทุนของบริษัทลดลง ซึ่งไม่จำต้องพิจารณาว่ามีการซื้อขายหุ้นของบริษัทในราคาที่สูงเกินจริงหรือไม่ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดให้บริษัทได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยในข้อนี้ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าบริษัทได้รับความเสียหาย และยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมในการใส่ชื่อนายคเชนทร์เป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ได้เป็นการกระทำละเมิด นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามนำทรัพย์สินของบริษัทไปซื้อหุ้นของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 30,000,000 บาท จึงต้องร่วมกันคืนทรัพย์สินที่ยักยอกไปให้แก่บริษัท พร้อมทั้งดอกผลแห่งทรัพย์สินตามคำฟ้องของโจทก์ นั้น เห็นว่า เมื่อคดีรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดโดยดำเนินการให้บริษัทรับซื้อหุ้นของตนเองและนำทรัพย์สินของบริษัทไปชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 30,000,000 บาท บริษัทย่อมได้รับความเสียหายในส่วนทรัพย์สินที่ถูกนำไปชำระเป็นค่าหุ้น จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทตามมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว แต่ที่โจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2558 ด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่า มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายให้บริษัทเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ บริษัทคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น แต่เนื่องจากในวันที่ 20 มกราคม 2558 ยังไม่ได้มีการชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะต้องมีการโอนทรัพย์สินของบริษัทหักเป็นค่าหุ้นกับสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการโอนทรัพย์สินและใช้เงินตามเช็คทุกฉบับครบจำนวนในวันใด จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทตามต้นเงินและดอกเบี้ยดังที่วินิจฉัยมา และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทมาสโลหะกิจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 กรกฎาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นทั้งสามศาลนั้น ให้จำเลยทั้งสามนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พณ.51/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อ. จำเลย - นาย ฟ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุรพล เอี่ยมอธิคม พศวัจณ์ กนกนาก สุนทร เฟื่องวิวัฒน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสงขลา - นางสาวณัฐพร เดชาวุธ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี