สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463/2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39, 195

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้

จำเลยพรากเด็กชาย พ. ไปจากผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กชาย พ. ไป โดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อมารดาเด็กชาย พ. ด้วย ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กชาย พ. โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กชาย พ. หากขัดขืนเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยเนื่องจากฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรกจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กชายพรเทพ บุญกูล (ที่ถูก บุญกุล)อายุ 10 ปีเศษ ไปเสียจากนางทูล บุญกูล (ที่ถูก บุญกุล) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาผู้ปกครองดูแล เพื่อการอนาจารแล้วจำเลยได้กระทำอนาจารเด็กชายพรเทพซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยใช้อุบายหลอกลวงพาเด็กชายพรเทพไปยังบริเวณป่าละเมาะหลังโรงเรียนบุญวัฒนา และใช้กำลังประทุษร้ายตบตีและขู่เข็ญว่าหากขัดขืนจะฆ่าเด็กชายพรเทพแล้วจำเลยใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในทวารหนักเด็กชายพรเทพ ชักเข้าชักออกโดยเด็กชายพรเทพอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 283 ทวิ, 284,317, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 317 วรรคสามการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูกฐานพรากเด็กชายอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร) จำคุก 5 ปี กระทงหนึ่ง และฐานกระทำอนาจาร (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี อีกกระทงหนึ่งรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สำหรับฎีกาของจำเลยข้อแรกซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และต่อมาอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ปรากฏว่าการที่จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรมีเจตนาพรากเด็กชายพรเทพไปเสียจากนางทูลผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร ย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กชายพรเทพไปโดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อนางทูลผู้เป็นมารดาเด็กชายพรเทพ ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กชายพรเทพโดยใช้กำลังประทุษร้ายตบตีและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กชายพรเทพหากขัดขืนมิให้จำเลยกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่…

อนึ่ง คดีนี้สำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สำหรับความผิดฐานนี้ก่อนคดีถึงที่สุดได้ และได้ความว่าก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยในคดีนี้ต่อไปอีก เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา จำเลย - นาย มานะ พันธุรัตน์

ชื่อองค์คณะ สมชาย จุลนิติ์ ดวงมาลย์ ศิลปอาชา ชวลิต ตุลยสิงห์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th