คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 227
แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ก็มีพยานแวดล้อม โดยได้ตรวจพบเอกสารแสดงการทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของผู้เสียหายอยู่กับพวกของจำเลย สำหรับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนั้น ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และได้ให้การถึงรายละเอียดวิธีการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เมื่อลักรถจักรยานยนต์ไปแล้วก็ได้นำไปให้จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความได้สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์พยานแวดล้อมซึ่งสมเหตุสมผลสอดคล้องกับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 3 แล้วน่าเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้องจริง
ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน ฉะนั้นการที่ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 3 ให้การด้วยความสุจริตใจ พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมามอบให้โดยบอกว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ลักมา จึงสามารถรับฟังประกอบการพิจารณาคดีได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 83, 334, 335, 357 ให้จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ จำนวน 18 รายการ ราคา 6,685 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 773/2540, 774/2540, 775/2540, 776/2540, 777/2540 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 773/2540, 774/2540, 776/2540, 777/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสาม, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง?
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของนายสุวรรณผู้เสียหาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามและติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกถอดอุปกรณ์หลายรายการที่บ้านจำเลยที่ 3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ก็มีพยานแวดล้อม การตรวจค้นพบเอกสารแสดงการทำประกันภัยคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถของผู้เสียหายอยู่กับพวกของจำเลย ส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนั้น จากการบอกกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และได้ให้การถึงรายละเอียดวิธีการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เมื่อลักรถจักรยานยนต์ไปแล้วได้นำไปให้จำเลยที่ 3 และได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความสอดคล้องกับพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนนำรถจักรยานยนต์ของกลางมามอบให้โดยบอกว่า เป็นรถจักรยานยนต์ที่ลักมา เมื่อพิเคราะห์พยานแวดล้อมซึ่งสมเหตุสมผลสอดคล้องกับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 3 แล้วมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้องจริง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำคำเบิกความของจำเลยที่ 3 มารับฟังประกอบการลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการคลาดเคลื่อนจากหลักการรับฟังพยานหลักฐานนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ที่กระทำผิดด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 3 ให้การด้วยความสุจริตใจ พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมามอบให้โดยบอกว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ลักมา จึงรับฟังประกอบการพิจารณาได้
พิพากษายืน.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลย - นายสรรพพร ธนะโชติ กับพวก
ชื่อองค์คณะ สมชัย เกษชุมพล สมพล สัตยาอภิธาน ชวลิต ธรรมฤาชุ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรปราการแผนกคดีเย - นางสาวสิริพร เปรมาสวัสดิ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายเจียม เสาวภา