สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 144 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 64 วรรคหนึ่ง

ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และความผิดฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 เป็นความผิดที่ผู้กระทำการจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการกระทำผิดอีกฐานหนึ่งก็ตาม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๘๓, ๑๔๔

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ (ที่ถูกมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดมาตรา ๙๑?

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจ ให้กระทำการไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุกคนละ ๑ ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม? นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? สำหรับปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิด ต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่นั้น จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ความผิดฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ นั้น เกิดขึ้นระหว่างทางที่จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ กระบะพาคนต่างด้าวไปส่งที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมเท่านั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองแต่ละการกระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ทั้งความผิดตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ และความผิดตามมาตรา ๑๔๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและ มีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิด ในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ ที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการกระทำผิดอีกฐานหนึ่งก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งสองให้การ รับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองรับว่าได้กระทำผิดต่อกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้นอันเป็นความผิด หลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่? ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้ว จำเลย - นายสุริพล เคนงาม ที่ 1 กับพวก

ชื่อองค์คณะ อัธยา ดิษยบุตร ปรีดี รุ่งวิสัย สมศักด์ เนตรมัย

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสีคิ้ว - นายวีระศักดิ์ ไชยสุขเจริญกุล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายปกรณ์ มหรรณพ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th