คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8622/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 9
การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การให้เป็นประเด็นพิพาท เพื่อที่จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำให้การแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจำเลยเพิ่งจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์
ตามคำฟ้องโจทก์เสนอข้อหาต่อศาลว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาจากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 381,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลให้พิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 381,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยแสดงเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์โดยใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของ ใบเสร็จรับเงิน ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองก็ดี โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดก็ดี จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) มิใช่ค้ำประกันกับโจทก์ก็ดี นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 แล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าสินค้าและรับคืนสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ตามหน้าที่ที่จ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 381,805 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้อง ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ เห็นได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเสนอขายสินค้าให้แก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 มิได้รับเงินเดือนจากโจทก์ จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งจะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน และที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งหรือศาลแขวง เพราะคดีนี้ไม่ใช่คดีผิดสัญญาจ้างแรงงาน และหากศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน ก็ควรจะแยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 จะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การให้เป็นประเด็นพิพาทเพื่อที่จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำให้การแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 2 เพิ่งจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานวิชาการ (พนักงานขาย) มีหน้าที่เสนอขายหนังสือที่โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารสั่งซื้อจากลูกค้าก็จะนำส่งมอบให้โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งสินค้าตามรายการสั่งซื้อให้แก่ลูกค้าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าที่จะขอรับหนังสือที่เหลือจากการจำหน่ายคืนและเก็บเงินจากลูกค้าให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือที่เหลือจากการจำหน่ายคืนและเก็บเงินจากลูกค้าแล้ว แต่ไม่ยอมส่งมอบให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 381,805 บาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์เสนอข้อหาต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์หาได้มีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์ จำกัด จำเลย - นาย ไพบูลย์ พู่พันธ์พานิช กับพวก
ชื่อองค์คณะ วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ กมล เพียรพิทักษ์ หัสดี ไกรทองสุก
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan