คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2561
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 212 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ม. 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยทั้งสองก่อนเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำของมาตรา 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท เมื่อศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดได้ คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยแท้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี เช่นนี้ จึงไม่ได้ผิดหลงในการกำหนดโทษ กรณีจึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยมิชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 11, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 92 ริบคีตามีน และอัลปราโซแลมของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับ จำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีคีตามีนและอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันมีคีตามีน ชนิดผงสีขาว 23 ห่อ/ถุง น้ำหนักสุทธิ 23.980 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 23.430 กรัม และอัลปราโซแลมชนิดเม็ดรีแบน 4 ห่อ/ถุง น้ำหนักสุทธิ 6.970 กรัม อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าแล้วจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โทษที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดได้ คือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยแท้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี เช่นนี้ จึงไม่ได้ผิดหลงในการกำหนดโทษ กรณีจึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยมิชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1255/2561
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี จำเลย - นายภัคภาคิน พชรลิขิตกุล กับพวก
ชื่อองค์คณะ สันติ วงศ์รัตนานนท์ สมชาติ ธัญญาวินิชกุล สมเกียรติ ตั้งสกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี - นายชูเกียรติ เหมือนชู ศาลอุทธรณ์ - นางสาวสุจิตรา โพทะยะ