สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65

จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเล่นอยู่กับเพื่อนให้ไปพบจำเลยที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และห้องน้ำชาย แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เลือกที่จะกระทำกับผู้เสียหายและเลือกสถานที่กระทำความผิด ที่ล้วนแต่เป็นที่ลับตาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายที่ห้องน้ำชายแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายว่า จำเลยจะออกจากห้องน้ำไปก่อนให้ผู้เสียหายนับ 1 ถึง 200 แล้วจึงออกจากห้องน้ำ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงหาทางกลบเกลื่อนและหลบซ่อนจากการรู้เห็นของผู้อื่น อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.อ. มาตรา 65

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 317

จำเลยให้การรับสารภาพแต่อ้างว่ากระทำความผิดเพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม), 279 วรรคแรก (เดิม), 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นที่ยุติในชั้นฎีกาว่า เด็กหญิง ศ. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนาย ก. ผู้เสียหายที่ 2 กับนาง ช. ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 11 ปีเศษ เรียนอยู่โรงเรียน บ. ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 เพื่อการอนาจาร และจำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยจำเลยจูบปากผู้เสียหายที่ 1 ใช้นิ้วและอวัยวะเพศของจำเลยถูไถและพยายามสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ปากอมอวัยวะเพศของจำเลย เมื่อปี 2551 จำเลยมีอาการป่วยด้วยเส้นเลือดในสมองตีบ และปี 2560 จำเลยป่วยด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า แม้นายแพทย์ ป. เป็นผู้รักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบให้แก่จำเลย แต่นายแพทย์ ป. ก็มิได้ยืนยันว่าจำเลยมีอาการไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์ ป. ว่า เมื่อจำเลยเข้ารับการรักษาพยานเป็นผู้ซักประวัติของจำเลย สามารถติดต่อสื่อสารกับจำเลยได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติ พยานไม่เคยส่งจำเลยตรวจอาการทางจิตเป็นพิเศษ จึงไม่ทราบอาการทางจิตของจำเลยว่ามีหรือไม่ และพยานไม่เคยสั่งจ่ายยาเกี่ยวกับอาการทางจิตหรือยาลดความเครียดให้แก่จำเลย อันสอดคล้องกับประวัติการตรวจรักษาของจำเลยว่า จำเลยเข้ารักษาด้วยอาการด้านซ้ายของร่างกายอ่อนแรงและปวดศีรษะ ส่วนที่นาย ว. พี่จำเลยเบิกความว่าจำเลยมีอารมณ์ 2 ขั้ว เกิดจากเซลล์สมองตาย สมองควบคุมอารมณ์ได้สูญเสียไป ลักษณะอารมณ์ขึ้นลงรวดเร็วและรุนแรงนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาวะหรืออาการทางอารมณ์แปรปรวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางเพศแต่อย่างใด กลับได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งกำลังนั่งเล่นอยู่กับเพื่อนให้ไปพบจำเลยที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และที่ห้องน้ำชาย แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เลือกที่จะกระทำกับผู้เสียหายที่ 1 และเลือกสถานที่กระทำความผิด เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายประกอบคดีแล้ว ปรากฏว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้โต๊ะกั้นแบ่งจากห้องเรียน มีลักษณะค่อนข้างมิดชิด ส่วนห้องน้ำชายก็อยู่ห่างจากอาคารเรียนของผู้เสียหายที่ 1 จึงล้วนแต่เป็นสถานที่ลับตา เมื่อจำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยว่าเจ็บ จำเลยหยุดการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่ห้องน้ำชายแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายที่ 1 ว่า จำเลยจะออกจากห้องน้ำไปก่อน ให้ผู้เสียหายที่ 1 นับ 1 ถึง 200 แล้วจึงออกจากห้องน้ำ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำของตน รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงหาทางกลบเกลื่อนและหลบซ่อนจากการรู้เห็นของผู้อื่น อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ และที่นายแพทย์ ป. มีความเห็นว่าจำเลยมีอาการผิดปกติของสติสัมปชัญญะนั้น เป็นการจัดทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุนานกว่า 3 เดือน จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แพทย์หญิง ต. ตรวจรักษาจำเลยแล้วมีความเห็นว่า อาการป่วยของจำเลย มีภาวะควบคุมพฤติกรรมทางเพศไม่ได้ เกิดจากสมองขาดเลือด จึงขาดสติสัมปชัญญะในบางขณะนั้น ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงว่าได้ตรวจรักษาอย่างไรจึงมีความเห็นเช่นนั้น และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้สืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษาศาลฎีกานั้น เห็นว่า จำเลยมีนาย ว. พี่จำเลยและนายแพทย์ ป. แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยมาเบิกความเป็นพยานให้ข้อมูลเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อม หรือสภาพความผิดที่เกี่ยวกับจำเลยชัดเจนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำต้องสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษาศาลฎีกา

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 31 ปี มีวุฒิภาวะและมีความเป็นผู้ใหญ่พอสมควร การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กไปกระทำอนาจารและกระทำชำเราโดยอาศัยความที่ผู้เสียหายที่ 1 ไร้เดียงสาและคุ้นเคยกับจำเลย ทั้งยังก่อเหตุกระทำความผิดในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ต้องมีความปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยรู้สำนึกความผิดให้การรับสารภาพและบรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง จนผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย และจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไว้โดยละเอียดชอบด้วยเหตุผลแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2528/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสวรรคโลก จำเลย - นาย ม.

ชื่อองค์คณะ ศิริชัย ศิริชื่นวิจิตร เธียรดนัย ธรรมดุษฎี ไชยผล สุรวงษ์สิน

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสวรรคโลก - นางสาวนภัสพร ศักดิ์เดชานนท์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นางสาวณัชชา น้อยเชื้อเวียง

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th