คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8717/2554
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 34 วรรคสี่, 40 วรรคสอง (1) (ง), 40 (2) (ข)
คำร้องของผู้ร้องแสดงเหตุอย่างชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการอย่างไร และขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เป็นคำร้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงลอยๆ ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อธรรมเนียมการก่อสร้าง จึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 34 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยไม่นำสืบว่าธรรมเนียมการก่อสร้างนั้น
ปฏิบัติกันอย่างไร ข้ออ้างของผู้ร้องตามคำแก้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น
สัญญาว่าจ้างข้อที่ 3 ข้อที่ 18 และข้อที่ 20 มีข้อตกลงกล่าวโดยสรุปว่า การขอขยายระยะเวลาทำงานหรือระยะเวลาก่อสร้าง ผู้ร้องจะต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบเพื่อขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นที่อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า แม้งานบางส่วนมีอุปสรรคเกี่ยวกับการรอแบบและวัสดุที่แก้ไข แต่มีงานหลายอย่างที่ไม่มีปัญหาแต่ผู้ร้องกลับทำไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องไม่ทำหนังสือขอขยายเวลาทำการตามสัญญาข้อที่ 20 ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิการขอขยายเวลาและถือว่าผู้ร้องผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงชอบนั้น เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักและเงื่อนไขตามสัญญาว่าจ้างงานภูมิสถาปัตย์แล้ว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
การที่ผู้ร้องอ้างเหตุทำนองว่าความล่าช้าของงานเกิดจากความผิดของผู้คัดค้านที่มีส่วนร่วมด้วยหรือผู้คัดค้านทราบเหตุแห่งการล่าช้าทุกครั้งเมื่อไม่มีการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีเหตุผล ผู้ร้องมีสิทธิขอขยายระยะเวลาทำงานออกไปได้นั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกันย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ
การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามสัญญาข้อที่ 21 แต่เห็นว่าค่าปรับที่ตกลงเป็นค่าเสียหายกรณีปฏิบัติผิดสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วนจึงปรับลดให้นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงไม่ใช่คำชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และไม่เป็นกรณีที่ว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง (1) (ง), (2) (ข) อันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม หมายเลขดำที่ 44/2547 หมายเลขแดงที่ 35/2548 ให้วินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ตามประเด็นพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องแสดงเหตุอย่างชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการอย่างไรและขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เป็นคำร้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อมาว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ อันจะทำให้ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงคงได้ความว่า เหตุแห่งการขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ การที่อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องผิดสัญญาว่าจ้าง การบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว ปัญหาจึงมีว่า การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องผิดสัญญาว่าจ้างและผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาว่าจ้างชอบแล้วนั้นเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างข้อ 3 ระบุให้ผู้รับจ้างคือผู้ร้องทำงานที่รับจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันเป็นหนังสือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการก่อสร้างอันเนื่องมาจากการแก้รูปแบบการก่อสร้าง หรือกรณีผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแบบมีผลกระทบต่อระยะเวลาการก่อสร้างหรือจากกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง ซึ่งหมายถึงเป็นกรณีที่มีเหตุแห่งการล่าช้าไม่อาจทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด จึงกำหนดเงื่อนไขของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปได้ โดยมีสัญญาว่าจ้าง ข้อ 20 กำหนดรายละเอียดของความล่าช้าไว้ซึ่งข้อหนึ่งก็คือ ความล่าช้าอันเกิดขึ้นเพราะผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนผู้ว่าจ้างมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงเนื้องาน หรือรูปแบบการก่อสร้าง จะโดยการเพิ่มหรือลดงานก็ตาม หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง และเหตุดังกล่าวนั้นเป็นเหตุที่ทำให้ผู้รับจ้างต้องใช้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้นจริงๆ และตามสัญญาว่าจ้างข้อนี้ยังกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อขอขยายระยะเวลาก่อสร้างเมื่อมีเหตุแห่งความล่าช้าดังกล่าวเกิดขึ้นว่า ผู้รับจ้างจะต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้รับจ้างได้ทราบจำนวนระยะเวลาของความล่าช้านั้นแล้ว เมื่อผู้ว่าจ้างได้ตรวจสอบเป็นที่ถูกต้องแท้จริงแล้วว่ามีกรณีความล่าช้าเพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และชอบด้วยเหตุผลเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ตาม ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาอนุมัติขยายเวลาให้เท่ากับระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น นอกจากนั้น ตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ 18 ยังกำหนดกรณีขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากสัญญา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจำนวนเงินค่าจ้างหรือระยะเวลาการทำงาน ผู้รับจ้างจะต้องแจ้งรายละเอียดระยะเวลาและจำนวนเงินที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ผู้ว่าจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ การขอขยายระยะเวลาทำงานหรือระยะเวลาก่อสร้างผู้ร้องจะต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบเพื่อขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เมื่ออนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า แม้งานบางส่วนมีอุปสรรคและปัญหาเกี่ยวกับการรอแบบและวัสดุที่แก้ไข แต่ผู้ร้องก็ยังสามารถที่จะทำงานอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาไปให้แล้วเสร็จก่อน และปรากฏว่างานหลายอย่างที่ไม่มีปัญหา ผู้ร้องกลับทำไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่มีการปรับแผนงานครั้งแรกไปแล้ว ประกอบกับผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่จะต้องทำหนังสือแจ้งข้อมูลเหตุแห่งความล่าช้านั้นให้ผู้คัดค้านตรวจสอบและขอขยายเวลาออกไป แต่ผู้ร้องไม่ได้ทำหนังสือขอขยายเวลาทำการตามสัญญา ข้อ 20 ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิการขอขยายเวลา และถือว่าผู้ร้องผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงชอบ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักและเงื่อนไขตามสัญญาว่าจ้างงานภูมิสถาปัตย์ (Landscape) แล้วหาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาไม่ ที่ผู้ร้องอ้างตามคำแก้อุทธรณ์ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติของการก่อสร้างจึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 34 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2548 นั้น เห็นว่า ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงลอยๆ ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อธรรมเนียมการก่อสร้าง โดยไม่นำสืบว่าธรรมเนียมการก่อสร้างนั้นปฏิบัติกันเช่นไร ดังนั้น ข้ออ้างของผู้ร้องตามคำแก้อุทธรณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ที่ผู้ร้องอ้างเหตุตามคำแก้อุทธรณ์ทำนองว่าความล่าช้าของงานเกิดจากความผิดของผู้คัดค้านที่มีส่วนร่วมด้วยก็ดี หรือผู้คัดค้านทราบดีถึงเหตุแห่งความล่าช้าแล้วทุกครั้ง เมื่อไม่มีการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีเหตุผล ผู้ร้องมีสิทธิขยายระยะเวลาทำงานออกไปได้ก็ดีนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐานของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ซึ่งการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกันย่อมเป็นสิทธิที่กระทำได้โดยชอบ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างตามคำแก้อุทธรณ์ว่าคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากกำหนดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายและค่าปรับเป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงของสัญญาพิพาทและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามสัญญาข้อที่ 21 แต่เห็นว่าค่าปรับที่ตกลงตามสัญญาเป็นค่าเสียหายกรณีปฏิบัติผิดสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งสูงเกินส่วนจึงปรับลดให้นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาและเป็นไปตามกฎหมายแล้วหาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงมิใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และไม่เป็นกรณีที่ว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง (1) (ง), (2) (ข) อันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หมายเลขดำที่ 44/2547 หมายเลขแดงที่ 35/2548 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.1991/2550
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - บริษัทไนซ์ แอนด์ กรีน การ์เดนนิ่ง จำกัด ผู้คัดค้าน - นางสาววาสนา รุ่งแสงทอง
ชื่อองค์คณะ อร่าม แย้มสอาด สิงห์พล ละอองมณี ชุติมนต์ โพธิเดช
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายบรรหาร มูลทวี