สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม

คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 283 ทวิ, 317

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) และวรรคสอง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี กับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ฟังได้เป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ ด.ญ. ว. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 7 ปีเศษ เป็นบุตรของนางสาว อ. ผู้เสียหายที่ 1 กับนาย ส. โดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนบริเวณอู่ซ่อมรถ จำเลยซึ่งอยู่บริเวณต้นมะยมที่อู่ซ่อมรถตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ให้เข้าไปหา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปหาจำเลย จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ข้างโต๊ะนั่งใต้ต้นมะยม แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า บริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนห่างจากเพิงพัก (โต๊ะนั่ง) ใต้ต้นมะยมซึ่งเป็นที่เกิดเหตุประมาณ 7 เมตร และสถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ภายในอู่ซ่อมรถเช่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนที่บริเวณอู่ซ่อมรถอยู่ก่อนแล้ว จำเลยจึงไม่ได้พาหรือพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ใด นั้น เห็นว่า คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมอันเป็นการมุ่งหมายเพื่อยึดครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่า จะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงถึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ให้เข้าไปหาจำเลย และแม้ที่เกิดเหตุจะอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร กับแม้จะอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน ก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษสูงเกินหรือไม่ เห็นว่า จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจและฝ่ายผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษก่อนลดโทษที่จะลงแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 2 ปี และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุก 2 ปี มานั้น จึงหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษทั้งสองฐานนี้เสียใหม่ให้เบาลงเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี แต่ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยห้าปี ซึ่งเป็นอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลดโทษให้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษมานั้น เห็นว่า จำเลยอายุ 63 ปี ย่อมเป็นผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตสูง แต่จำเลยกลับกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 7 ปี เศษ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่การดำเนินชีวิตและอนาคตของผู้เสียหายที่ 2 ทั้งไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 2 พฤติการณ์ของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 1 ปี และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุก 1 ปี รวม 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.92/2561

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย บ.

ชื่อองค์คณะ สมบูรณ์ วัฒนพรมงคล ประสิทธิ เจริญถาวรโภคา นันทวัน เจริญชาศรี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาธนบุรี - นายอนุสรณ์ สมทิพย์ ศาลอุทธรณ์ - นายสมคิด แสงธรรม

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th