คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2561
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 64 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมและไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 310, 313 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52 ริบตะขอเหล็กปลายแหลมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 รับสารภาพในข้อหาเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพในข้อหาให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อคนต่างด้าวพ้นการจับกุม ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง, 313 (3) วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ และฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่จำเลยทั้งสองหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เพื่อเรียกเงินแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 15 ปี รวม 10 กระทง เป็นจำคุกคนละ 150 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบตะขอเหล็กปลายแหลมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ร้อยตำรวจเอกศุภโชค กับพวก ไปตรวจค้นบ้านเกิดเหตุ พบผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และยึดตะขอเหล็กปลายแหลมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เป็นของกลาง สำหรับความผิดฐานเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 11, 62 และ 81 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า ชั้นพิจารณา โจทก์มิได้นำผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 มาเบิกความต่อศาล และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองจัดให้ผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 อยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายดังกล่าวออกจากบ้านเกิดเหตุไปไหนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองกับพวกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือใช้กำลังประทุษร้ายให้ผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 ติดต่อญาติเพื่อเรียกเงินเพิ่ม แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 มาเบิกความ แต่ได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอีก 3 คน ไม่ได้ถูกขัง แต่บุคคลดังกล่าวก็ไม่ได้ออกไปไหน และผู้เสียหายที่ 3 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าผู้เสียหายที่ 3 ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าผู้หญิง 3 คนที่มาด้วย คือภริยาจำเลยที่ 1 น้องภริยา และเพื่อนน้องภริยา ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความ ดังนั้น เหตุที่ผู้หญิง 3 คน มิได้ออกจากบ้านเกิดเหตุนั้นอาจเป็นเพราะว่าจำเลยที่ 1 จะต้องควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่ให้หลบหนีก็ได้ คดีจึงยังไม่พอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อมาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ในบ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติเรียกเงินเพิ่มเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่มีมาตั้งแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นความผิดฐานให้พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 พ้นจากการจับกุม และไม่อาจถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักรตามที่โจทก์ฎีกาด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.74/2561
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดชุมพร จำเลย - นาย ฮ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ประเสริฐ นิชโรจน์ สุรทิน สาเรือง กึกก้อง สมเกียรติเจริญ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชุมพร - นางสุธรรมา ณ ระนอง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นางสาวยุวิสส์รัชญา ยกซิ่ว