คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2561
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ม. 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4 (เดิม), 6 (2), 6 (เดิม), 9, 52 (เดิม)
บทนิยาม "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีคงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย จึงไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย อันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) เดิม, 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นเงิน 300,000 บาท ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 35
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ผู้เสียหายเป็นคนบ้านเดียวกับจำเลยทั้งสอง เมื่อเดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรกยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้และไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นางสาวพง ไม่มีชื่อสกุล พี่สาวผู้เสียหายและผู้เสียหายจึงติดต่อขอยืมเงินจากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังกรุงเทพมหานครและให้พักอาศัยอยู่ด้วย การไปทำงานหรือกระทำการค้าประเวณีของผู้เสียหายเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้เสียหายเองโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ทั้งปัจจุบันผู้เสียหายอายุ 21 ปีแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 52 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี และฐานร่วมกันเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุเกินกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ คงจำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี คงจำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 282 วรรคสอง (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เพียงกระทงเดียว จำคุกคนละ 6 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกคนละ 4 ปี ส่วนข้อหาความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายนั้นให้ยกเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า นางสาวยอด ไม่มีชื่อสกุล ผู้เสียหายเดินทางจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยโดยจำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายยืมเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 7,500 บาท กับค่าใช้จ่ายอื่น 2,000 บาท และผู้เสียหายได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยทั้งสองที่ห้องเช่าของจำเลยทั้งสอง ต่อมาผู้เสียหายได้ค้าประเวณีโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อให้และจำเลยที่ 1 จัดหาเสื้อผ้าและแต่งหน้าให้ผู้เสียหายกับพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณี เมื่อผู้เสียหายค้าประเวณีแล้วจำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าค้าประเวณีมาให้ผู้เสียหาย 17,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 หักเงินที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้ 7,500 บาท ส่วนเงินยืมอีก 2,000 บาท นางสาวพง ไม่มีชื่อสกุล พี่สาวของผู้เสียหายโอนให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าเสื้อผ้าผู้เสียหายแล้ว จึงเหลือเงินให้ผู้เสียหาย 9,500 บาท แต่ผู้เสียหายฝากเงินจำนวนนี้ไว้กับจำเลยที่ 2
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ตามบทนิยามในมาตรา 4 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้หรือไม่ โดยบทนิยามดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า "การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีนี้คงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กทำการค้าประเวณีโดยเป็นผู้ติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายทำการค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับทั้งรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหายที่ตนเป็นผู้ติดต่อช่วยเหลือในครั้งนี้ นอกจากจำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 ก็คืนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง ดังนี้ จึงไม่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยทั้งสองแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหายอันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว และย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา คม.1/2561
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นางสาว ก. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สาคร ตั้งวรรณวิบูลย์ อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ สันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางวิรา ณ พิกุล ศาลอุทธรณ์ - นายขจรเดช คงแสงชู