สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องจะระบุว่า "เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน" อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ขัดกับคำฟ้องก็ตาม แต่การค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วยหาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียวและเป็นเรื่องที่คู่ความสามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องขัดกันอันจะทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าใจข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้นั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินว่า "เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน" เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงพฤติการณ์หรือข้อตกลงที่ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินอย่างไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ส่วนข้อความในแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป โจทก์สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย หากไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ โจทก์สามารถตกเติมแก้ไขได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยทั้งสองกลับให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (4) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกคนละกระทงละ 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 8,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 2 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 4,000 บาท จำนวน 10 กระทง รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รอการลงโทษ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) … เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด…" การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสิบฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเช็คทั้งสิบฉบับถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "บัญชีปิดแล้ว" เป็นที่เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุว่า "เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคารกรุงเทพ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง จำนวน 12 ฉบับ ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน…" อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ขัดกับคำฟ้องก็ตาม แต่การค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว ข้อความดังกล่าวในสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่คู่ความสามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องขัดกันอันจะทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าใจข้อหาที่โจทก์ฟ้องได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ดังนี้ ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทำให้ฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้นั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 ว่า "เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคารกรุงเทพ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง จำนวน 12 ฉบับ ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน…" ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวเอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงพฤติการณ์หรือข้อตกลงที่ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้แตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความตามหนังสือสัญญากู้เงินนั้นเป็นแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป โจทก์ไม่มีความรู้ทางกฎหมายว่าจักต้องเขียนข้อความอย่างไร เจตนาของจำเลยทั้งสองที่ออกเช็คเป็นการสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้นั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่โจทก์สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย และเป็นแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป แต่หากไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ โจทก์ก็สามารถตกเติมแก้ไขได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำดังกล่าว ข้อฎีกาของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2371/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ว. จำเลย - นางสาว ร. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครเหนือ - นายสุธรรม สุธัมนาถพงษ์ ศาลอุทธรณ์ - นายประทีป เหมือนเตย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th