สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 155, 1367 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 58 ทวิ

ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้

การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของพันเอกพลรับชำระเงิน 175,000 บาท จากโจทก์ และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่โจทก์ พร้อมส่งมอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาล แทนการแสดงเจตนา และให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นสิทธิครอบครองแก่กองมรดกของพันเอกพล และให้จำเลยมีสิทธินำคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นสิทธิครอบครองของจำเลยแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งส่วนฟ้องและส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นมรดกของพันเอกพล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายยอม ส่วนจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกพล ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ ต่อมาทางราชการออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นายยอมทำหนังสือสัญญาจำนองและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้ไว้แก่พันเอกพลเป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของพันเอกพล

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาการซื้อขาย ปรากฏว่าลายมือชื่อของนายยอมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจริง หนังสือสัญญาการซื้อขาย ข้อที่ 3 ระบุว่า ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ได้ สื่อความหมายได้ว่านายยอมได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้แก่พันเอกพลเข้าทำประโยชน์เพื่อทำการเกษตรแล้ว หาใช่ไม่เคยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศที่ดินพิพาท ปรากฏชัดว่ามีการปรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เปลี่ยนไปจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2519 ก่อนมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท โดยที่ดินพิพาทในปี 2537 มีลักษณะเป็นการทำไร่เกือบทั้งแปลงโดยมีการปลูกสับปะรดในที่ดินพิพาท และจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด อีกทั้งหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุให้ผู้จำนองนำส่งดอกเบี้ยปีละครั้งเสมอไป แต่ไม่ปรากฏว่านายยอมหรือโจทก์ส่งดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้แก่พันเอกพล ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายยอมตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอกพลเมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นายยอมและพันเอกพลจึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้ เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นมรดกของพันเอกพลตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาการซื้อขายระบุเงื่อนไขว่าผู้ซื้อจะชำระเงินส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเมื่อครบ 45 วัน หลังจากออกหลักฐานได้แล้ว แสดงให้เห็นถึงเจตนาของนายยอมและพันเอกพลที่จะให้สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดประกอบกับพันเอกพล ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวหลายแปลง แปลงที่มีข้อบังคับห้ามโอนก็จะใช้วิธีจดจำนองที่ดินดังกล่าวไว้ หากพ้นระยะเวลาการห้ามโอนแล้วพันเอกพลจึงติดตามผู้ขายมาดำเนินการโอนทะเบียนให้ภายหลัง แสดงให้เห็นว่าขณะทำหนังสือสัญญาการซื้อขาย พันเอกพลรู้ถึงข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ดังนั้น การที่นายยอม ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอกพลครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอกพลก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอกพลและทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่านายยอมหรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่านายยอมหรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอกพลแล้วย่อมถือว่าพันเอกพลได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอกพลย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา แม้โจทก์ล้อมรั้วลวดหนามที่ดินพิพาทหลังจากฟ้องคดีนี้ เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยภายหลังจากฟ้องคดีนี้ มิได้ทำให้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของพันเอกพลซึ่งมีอยู่ก่อนเสียไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นมรดกของพันเอกพล ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.361/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ย. จำเลย - นาง พ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันเอก พ.

ชื่อองค์คณะ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ วัชรินทร์ สุขเกื้อ อุดม วัตตธรรม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเพชรบุรี - นายพงษ์นรินทร์ ศรีประเสริฐ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายสัมพันธ์ บุนนาค

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th