สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8901/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8901/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 545

สัญญาเช่าพิพาท มีจำเลยผู้ให้เช่าทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 ผู้เช่า โจทก์ที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 จึงมิใช่ผู้เช่าโดยตรงกับจำเลย ซึ่งระหว่างโจทก์ที่ 3 ผู้เช่าช่วงกับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่าช่วงถือเอาสิทธิใด ๆ กับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมได้ กฎหมายคงบัญญัติเฉพาะให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญามีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกสัญญาได้ กรณีจึงไม่อาจตีความขยายความบทบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อรับผิดต่อผู้เช่าช่วงโดยตรงได้ แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าพิพาท ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าได้รับความเสียหาย และหากฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การเช่าช่วงของโจทก์ที่ 3 เป็นไปโดยชอบ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 61,609,356 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 16,000,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 77,628,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 893,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนถึงเดือนกันยายน 2559 และเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากเดือนตุลาคม 2559 จนกว่าโจทก์ที่ 1 จะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและส่งคืนพื้นที่ที่เช่าให้จำเลย

โจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 7,400,000 บาท และชำระแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2559) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ และให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลยเป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 20 มิถุนายน 2559) จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 40,000 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม 2559 จนกว่าโจทก์ที่ 1 จะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากพื้นที่เช่า ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องโจทก์ทั้งสามและฟ้องแย้งของจำเลยในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันและตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งเช่นกันว่า โจทก์ทั้งสามต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีนายธนัช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับนายสุภัท เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 3 ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่โครงการแปลงรั้วเป็นร้าน (โครงการพิเศษ) ที่ดินบริเวณแนวรั้วของสำนักงานจำเลยซึ่งติดถนนรามคำแหง 24 ตั้งแต่ทางเข้าประตู 4 ถึงสุดกำแพงสวนสุขภาพ เพื่อปรับปรุงเป็นศูนย์การค้าเชิงพาณิชย์ มีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2555 โจทก์ที่ 1 นำพื้นที่เช่าดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 เช่าช่วงเพื่อนำไปพัฒนาและบริหาร ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โจทก์ที่ 2 แบ่งพื้นที่เช่าออกเป็น 2 โครงการ พื้นที่เช่าตั้งแต่ประตู 4 ของสำนักงานจำเลยตลอดแนวกำแพงสนามยิงปืนถึงคลองลำรางสวนสุขภาพเป็นพื้นที่โครงการที่ 1 และพื้นที่เช่าหน้าสวนสุขภาพของสำนักงานจำเลยตลอดแนวริมลำรางติดถนนรามคำแหง 24 ตรงข้ามมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญถึงสุดเขื่อนเป็นพื้นที่โครงการที่ 2 แต่วันที่ 25 มีนาคม 2555 โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ที่ 2 คืนพื้นที่เช่าโครงการที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 นำไปพัฒนาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เมื่อก่อสร้างเสร็จ โจทก์ที่ 1 ตกลงจะให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้เช่าและเก็บค่าเช่า โดยให้ค่าดำเนินการบริหารแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าเช่าเดิมเดือนละ 50,000 บาท แล้วโจทก์ที่ 2 จึงมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 30,000 บาท ส่วนโครงการที่ 2 โจทก์ที่ 2 นำพื้นที่เช่าให้โจทก์ที่ 3 เช่าช่วงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เป็นเวลา 9 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ดำเนินโครงการแปลงรั้วเป็นร้าน (โครงการพิเศษ) อ้างว่าจำเลย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และกรุงเทพมหานคร เห็นชอบร่วมกันในการใช้พื้นที่ราชพัสดุโครงการแปลงรั้วเป็นร้านเพื่อก่อสร้างและปรับปรุงถนนรามคำแหงถึงถนนศรีนครินทร์ (ผ่านถนนรามคำแหง 24) ทำให้โครงการแปลงรั้วเป็นร้านถูกรื้อถอนทั้งหมดและให้ถือว่าสัญญาเช่าระงับ โดยให้มีผลเป็นการสิ้นสุดสัญญาเช่าในวันที่ 30 กันยายน 2558 จากนั้นวันที่ 8 มกราคม 2559 โจทก์ทั้งสามจึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลยและเรียกค่าเสียหาย แม้จำเลยจะขออนุญาตฎีกาและฎีกา แต่ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาและรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์ที่ 3 มีนิติสัมพันธ์และมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดได้หรือไม่ เพียงใด ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 มิได้ขออนุญาตฎีกาและฎีกา คดีสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นอันยุติถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังต่อไปได้อีกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า แม้สัญญาเช่าพื้นที่ดำเนินโครงการแปลงรั้วเป็นร้าน (โครงการพิเศษ) ข้อ 7 จะมีเงื่อนไขและข้อตกลงกรณีมีการเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนครบกำหนดในสัญญาเป็นใจความว่า กรณีที่ถูกเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาเช่านี้เป็นอันระงับไป และแม้จะมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนพัฒนาการกับถนนศรีนครินทร์ พ.ศ.2539 แต่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 สิงหาคม 2539 ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น เมื่อไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินภายในกำหนด 3 ปี พระราชกฤษฎีกาฉบับดังว่าจึงสิ้นผลบังคับในวันที่ 22 สิงหาคม 2542 และหลังจากนั้นไม่มีกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการแปลงรั้วเป็นร้านอีก เมื่อจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้ถือว่าสัญญาระงับไปด้วยเหตุดังกล่าวได้ จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าจนครบกำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 การที่จำเลยเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าโดยที่ฝ่ายตนไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาเช่า จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า โจทก์ที่ 3 มีนิติสัมพันธ์และมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดได้หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า สัญญาเช่าพื้นที่ดำเนินโครงการแปลงรั้วเป็นร้าน (โครงการพิเศษ) อันเป็นสัญญาเช่าพิพาท มีจำเลยผู้ให้เช่าทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 ผู้เช่า โจทก์ที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 จึงมิใช่ผู้เช่าโดยตรงกับจำเลย ซึ่งระหว่างโจทก์ที่ 3 ผู้เช่าช่วงกับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่าช่วงถือเอาสิทธิใด ๆ กับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมได้ กฎหมายคงบัญญัติเฉพาะให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 545 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญามีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกสัญญาได้ กรณีจึงไม่อาจตีความขยายความบทบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อรับผิดต่อผู้เช่าช่วงโดยตรงได้ แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าพิพาท ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าได้รับความเสียหาย และหากฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การเช่าช่วงของโจทก์ที่ 3 เป็นไปโดยชอบ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดได้ เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยในรายละเอียดประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.811/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท จ. กับพวก จำเลย - การกีฬาแห่งประเทศไทย

ชื่อองค์คณะ ลาชิต ไชยอนงค์ ชลิต กฐินะสมิต วิชาญ กาญจนะ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายสิงห์ชัย สุพรรณพงษ์ ศาลอุทธรณ์ - นายศักดิ์ชัย รังษีวงศ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th