คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8991/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161, 169/2 วรรคสี่, 292
แม้ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีสำหรับกรณีถอนการบังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี" ก็ตาม แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" คดีนี้เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ทั้งสองจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาท รวม 3 แปลง ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามข้อตกลงในข้อ 1 โดยโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งเมื่อผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือการบังคับคดีโดยอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพัน ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โจทก์ทั้งสองย่อมเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ การบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่จำเป็น หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริตของโจทก์ทั้งสอง หรือต้องดำเนินการไปเพราะความผิดหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามและมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าว กรณีก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดแล้วไม่มีการขาย
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองและจำเลยโดยผู้ร้องทั้งสามในฐานะกรรมการจำเลย และในฐานะส่วนตัว ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์ทั้งสองขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และวันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ทั้งสองนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส. 3 ข. เลขที่ 464 และที่ดินโฉนดเลขที่ 58821 และ 45462 รวม 3 แปลง มีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 25,295,400 บาท แต่ในระหว่างดำเนินการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2561 แจ้งการถอนการยึดที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าว และให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึด
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการต้องเสียค่าธรรมเนียม และขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินที่โจทก์ที่ 1 วางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขณะทำการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 1
เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัด วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยโดยผู้ร้องทั้งสามลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะกรรมการจำเลย และในฐานะส่วนตัว ความว่า ข้อ 1 โจทก์ทั้งสองตกลงขายหุ้นของโจทก์ทั้งสองที่ถืออยู่ในบริษัทจำเลยให้แก่ผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย คนละ 20,000,000 บาท โดยผู้ร้องทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความคนละ 2,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระโดยนำที่ดินโฉนดที่มีชื่อของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสาม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปขาย โดยราคาขายให้ใช้เสียงข้างมากและราคากลาง ซึ่งราคาดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าราคากลางของท้องตลาดในขณะซื้อขาย และให้นำเงินราคาขายหักส่วนของโจทก์ทั้งสองออกก่อนและนำส่วนของผู้ร้องทั้งสามนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 18,000,000 บาท ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ข้อ 2 โจทก์ทั้งสองตกลงจะส่งมอบรถยนต์ตู้ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำนวน 20 คัน ภายในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ทั้งสองตกลงว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารการจัดการเกี่ยวกับกิจการของจำเลย และบริษัทนครสงขลาขนส่ง จำกัด บริษัท… อีกต่อไป โดยเมื่อผู้ร้องทั้งสามชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ โจทก์ทั้งสองจะโอนหุ้นในสัดส่วนที่ตนเองถือทั้งหมดในบริษัทจำเลยและบริษัทดังกล่าวข้างต้นทันทีให้แก่ผู้ร้องทั้งสามในสัดส่วนเท่า ๆ กัน… ข้อ 3 หากผู้ร้องทั้งสามผิดนัด ตามข้อ 1 และข้อ 2 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองสามารถยึดทรัพย์บังคับคดีเอากับที่ดินที่โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสาม มาเพื่อบังคับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทันที โดยโจทก์ทั้งสองจะไม่ยึดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องทั้งสาม ข้อ 4 หากโจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นการแสดงเจตนา ข้อ 5 จำเลยตกลงไปถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับจำเลยกับโจทก์ทั้งสองต่อพนักงานสอบสวนภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ และไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาใด ๆ ในส่วนเกี่ยวกับบริษัทจำเลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีพิพาทเรื่องพินัยกรรม ข้อ 6 ในวันนี้โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาขายหุ้นในบริษัทจำเลยและบริษัทดังกล่าวข้างต้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ข้อ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ต่อมาศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง และวันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส. 3 ข. เลขที่ 464 และที่ดินโฉนดเลขที่ 58821 และ 45462 รวม 3 แปลง ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 25,295,400 บาท ผู้ร้องทั้งสามจึงยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือการบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โดยไม่มีคู่ความฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2561 แจ้งการถอนการยึดที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าว และให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ทั้งสองต้องชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดแล้วไม่มีการขายหรือไม่ เห็นว่า แม้ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีสำหรับกรณีถอนการบังคับคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี" ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" ดังนั้น สำหรับคดีนี้เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ทั้งสองจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส. 3 ข. เลขที่ 464 และที่ดินโฉนดเลขที่ 58821 และ 45462 รวม 3 แปลง ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามข้อตกลงในข้อ 1 โดยโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งเมื่อผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือการบังคับคดีโดยอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพันผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โจทก์ทั้งสองย่อมเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ การบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่จำเป็น หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริตของโจทก์ทั้งสอง หรือต้องดำเนินการไปเพราะความผิดหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามและมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าว กรณีก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดแล้วไม่มีการขาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดแล้วไม่มีการขาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.381/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ท. กับพวก ผู้ร้อง - นาง ส. กับพวก จำเลย - บริษัท น.
ชื่อองค์คณะ สุทธินันท์ เสียมสกุล กึกก้อง สมเกียรติเจริญ สรศักดิ์ จันเกษม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช - นายเสริมเผด็จ กรลักษณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายอานัด อุเบกขานุกุล