สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 448

โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สร้างเขื่อนไม้อัดดินป้องกันน้ำท่วม ปรากฏว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวบกพร่อง โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดคณะกรรมการชุดนี้ได้รายงานให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้ละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518 จึงไม่ขาดอายุความ

จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของ กทม. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมงานและกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยตรวจรับงานทั้งๆ ที่งานบกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าการก่อสร้างได้เป็นไปตามแบบโดยถูกต้องจึงได้จ่ายเงินให้ผู้รับจ้างไปเต็มจำนวนตามสัญญาจ้าง ถ้าหากว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบความบกพร่องในการก่อสร้างดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นจำเลยต้องรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างจะอ้างว่าการที่ได้ตรวจรับมอบงานนั้นก็เพราะเชื่อผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 ผู้รับเหมาก่อสร้างและจำเลยที่ 3 ถึง 9 เจ้าหน้าที่ของ กทม. ผู้ควบคุมงานและผู้ตรวจการจ้างร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 96,000 บาท กับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ฎีกาข้อแรกมีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ได้ความว่าเมื่อกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสายตรวจกรุงเทพมหานครตรวจพบว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวไม่ตรงตามแบบแปลนและผิดรายการ จึงรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ และโดยคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด คณะกรรมการชุดนี้ได้รายงานให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ตามเอกสารหมาย จ.9 ดังนั้นจึงต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้ละเมิด และรู้ตัวจำเลยที่ 7, ที่ 8 และที่ 9 ผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518 ภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 7, ที่ 8 และที่ 9 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่น เห็นว่าจำเลยที่ 7, ที่ 8 และที่ 9 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้าง สำหรับการสร้างเขื่อนทั้ง 17 แห่งที่จำเลยที่ 1, ที่ 2 ได้กระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามแบบ ใช้วัสดุในการก่อสร้างผิดแบบ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 3 นี้ได้ตรวจรับงานงวดสุดท้ายงวดเดียวทั้ง ๆ ที่งานบกพร่อง เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าการก่อสร้างได้เป็นไปตามแบบโดยถูกต้อง จึงได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1, ที่ 2 ไปเต็มจำนวนตามสัญญาจ้างที่จำเลยดังกล่าวอ้างว่า การที่ได้ตรวจรับมอบงานนั้นก็เพราะเชื่อผู้คุมงานก่อสร้าง คือเชื่อจำเลยที่ 3, ที่ 4,ที่ 5 และที่ 6 ว่าการก่อสร้างได้กระทำไปตามแบบแล้ว ไม่ทำให้จำเลยที่เป็นกรรมการตรวจการจ้างพ้นความรับผิดไปได้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องมีกรรมการตรวจการจ้างไว้ให้เปล่าประโยชน์ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นอกจากนี้ถ้าหากว่าจำเลยที่ 7, ที่ 8, ที่ 9 ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบโดยไปตรวจการก่อสร้างทุกระยะแล้วความบกพร่องในการสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 7, ที่ 8, และที่ 9 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่นด้วย"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - กรุงเทพมหานคร จำเลย - ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการช่าง กับพวก

ชื่อองค์คณะ พยนต์ ยาวะประภาษ ผสม จิตรชุ่ม สุทิน เลิศวิรุฬห์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE