สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2539

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653วรรคหนึ่งเป็นกรณีหนึ่งหนี้เงินจำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งแต่สำหรับคดีนี้โจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือเอกสารหมายจ.1มาแสดงและจำเลยนำสืบรับว่าได้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายจริงสัญญากู้ยืมเงินอาจจะรวมเงินจำนวนที่กู้ยืมกันในครั้งก่อนๆมารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวกันได้ไม่มีกฎหมายห้ามดังนั้นการที่ผู้เสียหายนำเงินจำนวน700,000บาทที่ให้จำเลยกู้ยืมไปเมื่อวันที่11เมษายน2537มารวมกับเงินจำนวน800,000บาทที่ให้จำเลยกู้ยืมอีกเมื่อวันที่21เมษายน2537รวมเป็นเงิน1,500,000บาทจึงชอบที่จะทำได้และเป็นหนี้ที่อาจบังคับได้ตามกฎหมายหากผู้เสียหายนำหลักฐานการกู้ยืมเงินตามเอกสารหมายจ.1มาฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวในทางแพ่งจำเลยก็อาจจะต้องรับผิดตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารนั้นเมื่อจำเลยทำหลักฐานการกู้ยืมตามเอกสารหมายจ.1แล้วในวันเดียวกันจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนเดียวกันกับที่กู้ยืมโดยลงวันที่ล่วงหน้าไว้ตรงกับกำหนดที่จะต้องชำระคืนหนี้เงินที่กู้ยืมนั้นจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ลงโทษจำคุก 1 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 สั่งจ่ายเงิน 1,500,000 บาทให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการที่ผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมเงิน 700,000 บาท เมื่อวันที่ 11เมษายน 2537 ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นเช็คที่มีหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่หนี้เงินจำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งแต่สำหรับคดีนี้โจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือคือเอกสารหมาย จ.1มาแสดง และจำเลยนำสืบรับว่าได้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายจริง สัญญากู้ยืมเงินอาจจะรวมเงินจำนวนที่กู้ยืมกันในครั้งก่อน ๆ มารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวกันได้ ไม่มีกฎหมายห้าม ดังนั้น การที่ผู้เสียหายนำเงินจำนวน 700,000 บาทที่ให้จำเลยกู้ยืมไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 มารวมกับเงินจำนวน800,000 บาท ที่ให้จำเลยกู้ยืมอีก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2537รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท จึงชอบที่จะทำได้และเป็นหนี้ที่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย หากผู้เสียหายนำหลักฐานการกู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 มาฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวในทางแพ่งจำเลยก็อาจจะต้องรับผิดตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารนั้น เมื่อจำเลยทำหลักฐานการกู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วในวันเดียวกันจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนเดียวกันกับที่กู้ยืมโดยลงวันที่ล่วงหน้าไว้ตรงกับกำหนดที่จะต้องชำระคืนหนี้เงินที่กู้ยืมนั้น จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเพราะการออกเช็คในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยตกลงกับผู้เสียหายว่าให้ผู้เสียหายนำเช็คไปขอรับเงินที่ธนาคารตามเช็คนั้นได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในหลักฐานการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่ามีเช็คที่จำเลยออกให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 2 ฉบับ แต่อีกฉบับหนึ่งผู้เสียหายมิได้นำมาแสดง และจำเลยนำสืบต้นขั้วเช็คตามเอกสารหมาย ล.6 ว่าเป็นเงินจำนวน 900,000 บาท มิใช่จำนวน 30,000 บาทดังที่โจทก์นำสืบนั้น เห็นว่า ต้นขั้วเช็คตามเอกสารหมาย ล.6จำเลยทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังไม่อาจฟังว่ามีจำนวนเงินดังที่จำเลยอ้างจริง และข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารหลังจากวันที่ลงในเช็คหนึ่งเดือนเศษและหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วประมาณสองเดือน ผู้เสียหายจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าเป็นเช็คค้ำประกันหนี้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวคงฟังได้เพียงว่าผู้เสียหายยังไม่ต้องการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยเท่านั้น จึงได้ติดตามทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คนั้นก่อน จนกระทั่งเห็นว่าการทวงถามไม่ได้ผลจึงนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคาร และหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วผู้เสียหายยังคงติดตามทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกจนเห็นว่าคดีจะขาดอายุความจึงได้ร้องทุกข์เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยไม่เป็นการแสดงว่าจำเลยออกเช็คฉบับพิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้เงินยืมแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าผู้เสียหายกับสามีผู้เสียหายทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารจากจำเลยก็ปรากฏต่อมาว่าไม่มีการซื้อขาย ทั้งเงินที่จำเลยอ้างว่านำเข้าบัญชีเงินฝากของสามีผู้เสียหายตามเอกสารหมาย ล.3 ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้รายใด ข้อตกลงที่ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีสามีผู้เสียหายก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเบิกความยอมรับว่ามีข้อตกลงเช่นนั้นจริงเมื่อทนายจำเลยนำใบฝากเงินและใบรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.3เข้าถามค้านผู้เสียหาย ปรากฏว่าผู้เสียหายเบิกความว่า ไม่ทราบเรื่องจึงไม่พอฟังว่าเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยนำเข้าบัญชีเงินฝากของสามีผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมกัน ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือไม่นั้นโจทก์มีนายไพทูลย์ เก่งเขต์กิจ สมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สาขาอุทัยธานี กับร้อยตำรวจเอกธวัช ตุ่นคำแดง พนักงานสอบสวน มาเบิกความประกอบบันทึกคำให้การของนายไพทูลย์ในชั้นสอบสวน เอกสารหมาย จ.4 ว่า ในวันที่จำเลยส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย วันที่ระบุในเช็คและวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขอรับเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยมีไม่พอและจำเลยไม่มีข้อตกลงกับธนาคารให้จ่ายเงินเกินบัญชี แสดงว่าขณะออกเช็คไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงใช้เงินตามเช็คนั้นได้ แม้ผู้เสียหายจะนำเช็คไปขอรับเงินในวันที่ 12มิถุนายน 2537 ธนาคารก็ไม่อาจจ่ายเงินให้ได้ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานี จำเลย - นาย สมศักดิ์ โพธิวัฒน์

ชื่อองค์คณะ ธวัชชัย พิทักษ์พล จเร อำนวยวัฒนา ไพฑูรย์ แสงจันทร์เทศ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE