คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 148, 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 852
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เคยฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว และโต้เถียงข้อแถลงของโจทก์ที่ว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์แถลง ดังนั้น การที่ศาลแรงงาน ฯ วินิจฉัยว่า จำเลยได้ให้คำมั่นกับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำจึงเป็นการไม่ชอบ
โจทก์เคยฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันคืน แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยว่า จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์ยอมตามที่จำเลยตกลงโดยไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์ใด ๆ และไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปทั้งทางแพ่งและอาญาจากการเลิกจ้างนี้ ดังนี้ สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยต่างมีมูลมาจากการเลิกจ้างซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยตั้งแต่จำเลยเลิกจ้างแล้ว ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลรวมไปถึงโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยด้วย การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานแล้วเลิกจ้างโดยไม่ปรากฏความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องคดีเรื่องนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงว่าเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย เพราะโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างเดียวเนื่องจากจำเลยให้คำมั่นว่าจะจ่ายค่าชดเชยแต่ไม่ยอมจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ จำเลยแถลงว่าเคยพูดจากกับโจทก์ถึงเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแต่ยังตกลงกันไม่ได้ โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามคำฟ้องคำให้การและข้อเท็จจริงที่แถลงรับกัน ไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยให้คำมั่นด้วยวาจากับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้แล้วไม่ยอมจ่ายให้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าชดเชยขณะโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิในค่าชดเชยยังไม่มีเพราะจำเลยรับว่าจะจ่ายให้ หลังจากยอมความกันแล้วโจทก์ทวงถามเรียกค่าชดเชยจำเลยไม่ยอมจ่าย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องได้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เคยฟ้องคดีเรื่องนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วและโต้เถียงข้อแถลงของโจทก์ที่ว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ด้วยข้อเท็จจริงในข้อหลังยังรับฟังเป็นยุติไม่ได้ โจทก์มีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์แถลงการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรับฟังว่าจำเลยได้ให้คำมั่นกับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้และนำมาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำจึงไม่เป็นการไม่ชอบ สำหรับปัญหาฟ้องซ้ำนั้น แม้ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันคืนก็ตามแต่ก็ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยว่าจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์ยอมตามที่จำเลยตกลงนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์อย่างใด ๆ อีก ไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาจากการเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าทั้งสิทธิเรียกร้องในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยต่างมีมูลมาจากการเลิกจ้าง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยตั้งแต่จำเลยเลิกจ้างหรือก่อนฟ้องคดีก่อนแล้ว ฉะนั้น ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลรวมไปถึงโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยซึ่งมีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลยด้วยการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาวดี สงบ จำเลย - บริษัทเมืองมิตรอุตสาหกรรม จำกัด
ชื่อองค์คณะ ไพศาล สว่างเนตร ขจร หะวานนท์ ดุสิต วราโห
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan