คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 227, 863, 868 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58, 60
โจทก์รับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดของบริษัท อ. โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลแบบเปิดให้ผู้เอาประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน และมีหลักปฏิบัติว่าเมื่อมีสินค้าเข้าผู้เอาประกันภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออาจแจ้งภายหลังสินค้าถูกขนส่งมาแล้วก็ได้ โจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัยสำหรับสินค้างวดนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้ออกใบรับรองการประกันภัยสินค้าของบริษัท อ. ซึ่งขนส่งโดยเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 จากต่างประเทศมายังประเทศไทยโดยที่จำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง และได้มีการโอนใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. แล้ว เมื่อเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 มาถึงประเทศไทยได้มีการส่งมอบสินค้าแก่บริษัท อ.ผู้เอาประกันภัยในสภาพที่เสียหายบริษัทอ. จึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป ดังนี้เมื่อบริษัท อ. ได้รับโอนใบตราส่งมาจากผู้ขายสินค้าบริษัท อ.จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้น แม้การซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบ CIF ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่น โจทก์จึงรับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยมาฟ้องจำเลยได้
กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัท ไอ.ได้มีการระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปว่าผู้ถือกรมธรรม์คือบริษัทไอ.และผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการ ดังนี้ นอกจากบริษัท ไอ.จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัท ไอ.เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ50หรือบริษัทอื่นที่บริษัทไอ. เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย เมื่อบริษัท ไอ.ถือหุ้นอยู่ในบริษัทอ. ร้อยละ 50 จึงถือว่าบริษัท อ.เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเปิด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และหาได้มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัยไม่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัยโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท อ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ.แล้วย่อมมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทอ.มาฟ้องได้
แม้เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งแต่บริษัท อ.มิได้ว่าจ้างให้จำเลยที่3ขนสินค้าดังกล่าวบริษัทอ. มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมดเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท อ. โดยสัญญาขนส่งระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกจ้างผู้รับขนส่งช่วงชั้นดีในการขนส่งได้แต่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดเต็มที่ต่อบริษัท อ. ในการปฏิบัติตามสัญญา และผู้ขนส่งช่วงอื่นที่จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้ถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องรับผิดโดยตรงต่อบริษัท อ.ดังนี้บริษัทอ. จึงเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนสินค้าโดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในการนำสินค้ามายังประเทศไทยตามสัญญาขนส่งการที่จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ด้วย
ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ถือว่าเป็นกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวนไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดให้ไว้แก่บริษัทคอมบิบล็อคเอเซีย จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้เอาประกันภัยจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิด (Marine Cargo Open Policy) หมายเลข 10170 ให้ผู้เอาประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน โดยเมื่อมีสินค้าส่งเข้ามา ผู้เอาประกันภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออาจจะแจ้งภายหลังที่สินค้าถูกส่งมาแล้วก็ได้ แล้วโจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัย สำหรับสินค้างวดนั้นให้ผู้เอาประกันภัยโจทก์ต้องรับผิดชอบถึงแม้สินค้าที่รับประกันภัยจะบรรทุกลงเรือก่อนออกใบรับรองการประกันภัย จำเลยทั้งสามเป็นหนี้ที่โจทก์รับช่วงสิทธิมาจากเจ้าของสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คือสินค้าของบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด เมื่อสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยให้ไว้เป็นเงินจำนวน 307,900,000 บาท เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด คืออุปกรณ์เครื่องพิมพ์และส่วนประกอบจำนวน 21 หีบห่อ ได้บรรทุกลงเรือเดินทะเลชื่อ "หัวจิน" (Hua Jin) ถูกต้อง อยู่ในสภาพเรียบร้อย และครบจำนวนแล้วจำเลยที่ 3 เจ้าของเรือดังกล่าวได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมประกอบธุรกิจดังกล่าวกับจำเลยที่ 3 ในการรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นทางค้าปกติด้วย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540 เรือหัวจิน เดินทางมาถึงท่าเรือศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1ได้ติดต่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรและดำเนินการขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งมาปรากฏว่าสินค้านั้นบุบสลายและแตกหักเป็นจำนวนมาก คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,085,956.44 บาท บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด มอบหมายให้บริษัทตัวแทนเรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ร่วมประกอบการรับขนส่งสินค้าในคดีนี้กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าด้วยแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทเอสไอจีคอมบิบล็อค จำกัด และทำการเรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าคดีนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,085,956.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 4,085,956.44 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และไม่เคยมีข้อตกลงกับผู้ขนส่งทอดแรกซึ่งทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนให้แก่บริษัทคาลเบอร์สัน เฮอร์แมนน์ ลุดวิก จีเอ็มบีเอช แอนด์ โค. (CalbersonHermann Ludwig GMBH & Co.) ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยมีหน้าที่ติดต่อประสานงานทางด้านเอกสารต่าง ๆ แจ้งการมาถึงของสินค้า รับแลกต้นฉบับใบตราส่งและทำพิธีการทางศุลกากร เพื่อออกของหรือสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งว่าจ้างเท่านั้นใบตราส่งซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการขนส่งสินค้าดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อของจำเลยที่ 1 อันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้านั้นสินค้าได้รับความเสียหายเล็กน้อย โจทก์สามารถหาซื้อชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบของสินค้าในประเทศไทยมาทำการซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหายได้ โดยไม่จำต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งค่าเสียหายอย่างมากไม่เกินจำนวน 200,00 บาท หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็รับผิดไม่เกินจำนวน 40,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 58 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,085,956.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 4,085,956.44 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 26 มีนาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจรับประกันภัยได้ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ 10170 กับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ผู้ถือกรมธรรม์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเอกสารหมาย จ.6 และโจทก์ได้ออกหลักฐานการรับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดให้แก่บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด โดยมีระยะเวลาการประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2541 ตามใบรับรองการประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือหัวจินได้รับขนส่งสินค้าเครื่องพิมพ์แบบโรตารี 6 สี พร้อมอุปกรณ์ครบชุด 1 ชุด จำนวนรวม 21 หีบ จากท่าเรือเบรเมนเมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มายังท่าเรือศรีราชา ประเทศไทยจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งเพื่อส่งสินค้านั้นให้บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัดซึ่งเป็นผู้รับสินค้า ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540เรือหัวจินเดินทางมาถึงท่าเรือศรีราชา บริษัทแอพเพ็นชิป 88 (ประเทศไทย) จำกัดตัวแทนเรือหัวจินในประเทศไทยได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงกำหนดการที่เรือหัวจินจะเดินทางเข้ามาเทียบท่าเรือศรีราชา จำเลยที่ 1 จึงนำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อที่จะนำสินค้าออกจากท่าเรือศรีราชา ซึ่งขณะนั้นบริษัทแอพเพ็นชิป 88 (ประเทศไทย) จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทนพเก้า 77 จำกัด ขนถ่ายสินค้าลงจากเรือหัวจินมาวางพักไว้ที่ลานพักสินค้าของท่าเรือศรีราชา ปรากฏว่ามีสินค้าบางส่วนเสียหาย หลังจากมีการสำรวจสินค้ากันเบื้องต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขนสินค้าทั้งหมดจากท่าเรือศรีราชาไปยังโรงงานของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เมื่อมีการสำรวจความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว บริษัทเอสไอจีคอมบิบล็อค จำกัด จึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 โจทก์ชำระค่าเสียหายให้บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นเงินจำนวน 4,085,956บาท โจทก์จึงมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ เนื่องจากคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ขนส่งในขณะที่สินค้านั้นเกิดความเสียหายหรือไม่และสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ไม่ผูกพันโจทก์เพราะไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าตามข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ความว่า บริษัทคอมบิบล็อคเอเซีย จำกัด สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทมาสชิเนนบอ วิลเฮล์ม คอชเซียก จีเอ็มบีเอชแอนด์ โค.เคจี เป็นการซื้อขายสินค้ากันในราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งด้วย หรือที่เรียกว่าซื้อขายระบบซีไอเอฟ ซึ่งผู้ขายต้องเป็นผู้เอาประกันสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ นอกจากนี้ผูขายยังมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย บริษัทมาสชิเนนบอ วิลเฮล์ม คอชเซียก จีเอ็มบีเอช แอนด์ โค.เคจี เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทซีเอชแอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ แอลทีดี.ฮ่องกง ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าและเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้านั้น มิใช่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด ทั้งตามสัญญาประกันภัยโจทก์ก็ทำกับบริษัทเอสไอจีชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ไม่ได้ทำกับบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด และทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันนั้นในข้อนี้ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนางสาวธนิดา ย่อมประเสริฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดของบริษัทคอมบิบล็อคเอเซีย จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลแบบเปิดหมายเลข 10170 ให้ผู้เอาประกันภัยไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.6 ในการออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบนี้มีหลักปฏิบัติคือ เมื่อมีสินค้าเข้ามาผู้เอาประกันภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออาจแจ้งภายหลังสินค้าถูกขนส่งมาแล้วก็ได้ โจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัยสำหรับสินค้างวดนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัย และโจทก์ต้องรับผิดแม้สินค้าที่รับประกันภัยจะบรรทุกลงเรือก่อนออกใบรับรองการประกันภัย โจทก์ได้ออกใบรับรองการประกันภัยสินค้าของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด 1 รายการ ซึ่งขนส่งโดยเรือเดินทะเลหัวจินของจำเลยที่ 3 จากท่าเรือเบรเมน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง เมื่อผู้ขายได้รับค่าสินค้าผู้ขายได้โอนใบตราส่ง ใบกำกับสินค้า และใบรายการบรรจุหีบห่อตามเอกสารหมาย จ.8ถึง จ.12 ให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เมือเรือหัวจินเดินทางมาถึงท่าเรือศรีราชาจังหวัดชลบุรี ได้มีการส่งมอบสินค้าแก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้เอาประกันภัยในสภาพที่เสียหาย ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์เห็นว่าสินค้าที่ขนส่งดังกล่าวเสียหายจริงและอยู่ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดหมายเลข 10170 จึงได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 เป็นเงินจำนวน 4,085,956 บาท ตามใบรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.13 จำเลยที่ 1 มิได้มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ขายได้รับค่าสินค้าที่ขนส่งและได้โอนใบตราส่งให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้รับตราส่งแล้ว บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นได้และเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้นแล้ว แม้จะฟังว่าการซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบซีไอเอฟ ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่น ซึ่งมิใช่โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลแบบเปิดและเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนี้ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ขนส่งในขณะที่สินค้านั้นเกิดความเสียหายเป็นทำนองว่าบริษัทดังกล่าวมิใช่ผู้ส่วนได้เสียในขณะเกิดวินาศภัยและโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทดังกล่าวตามสัญญาประกันภัยนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าตามสัญญาประกันภัยนั้น โจทก์ทำกับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ไม่ได้ทำกับบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด และทั้งสองบริษัทก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันนั้นเห็นว่า แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ 10170 เอกสารหมาย จ.6จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรีเกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ก็ตามแต่ตามกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ไว้ในข้อ 02.1โดยได้กล่าวถึงผู้ถือกรมธรรม์ว่าคือ บริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี และระบุว่าผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50 หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการตามภาคผนวก 1 อันแสดงว่านอกจากบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์โฮลดิ้ง เอจี จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 50 หรือมีบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นเป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย ซึ่งตามใบรับรองการประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่บริษัทเอสไอจีคอมบิบล็อค จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.7ก็เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเอกสารหมาย จ.6 ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด มากกว่าร้อยละ 50 จึงถือได้ว่าบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเปิดเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวหาได้มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัยดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้เอาประกันภัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด แล้วย่อมมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด มาฟ้องเป็นคดีนี้ได้นั้น เป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ที่โจทก์รับประกันภัยไว้และต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าคดีนี้จากต้นทางประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนเรือให้แก่บริษัทคาลเบอร์สัน เฮอร์แมนน์ ลุดวิก จีเอ็มบีเอชแอนด์ โค. ที่อยู่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีหน้าที่ติดต่อประสานงานทางด้านเอกสารต่าง ๆ แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้รับตราส่งทราบ และดำเนินการนำต้นฉบับใบตราส่งไปแลกกับใบสั่งปล่อยสินค้าอันเป็นพิธีการทางศุลกากรเท่านั้น จำเลยที่ 1จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะได้ความว่าเรือหัวจินของจำเลยที่ 3 เป็นเรือที่บรรทุกสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ดังที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ก็ตาม แต่ไม่ได้ความว่าบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ขนสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทยแต่อย่างใด กลับได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายพิชิต ไพรอดพนักงานของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด พยานโจทก์ว่า ในการนำสินค้าตามคำฟ้องเข้ามาบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด เช่น การจัดหาพาหนะในการขนส่งจากต่างประเทศมายังประเทศไทย การดำเนินพิธีการทางศุลกากรในประเทศไทย การขนถ่ายสินค้าลงจากพาหนะที่ขนส่งที่ต้นทางและปลายทางตลอดจนการดำเนินการขนส่งสินค้าเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด โดยทำสัญญาขนส่งกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งตามสัญญาขนส่งเอกสารหมาย จ.21 ที่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัดและจำเลยที่ 1 ทำขึ้นก็ระบุไว้ชัดเจนในข้อความเบื้องต้นว่า บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ได้ซื้อสินค้ามาจากผู้ขายในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องมีการขนส่งสินค้าที่ซื้อจากยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกามายังสถานที่รับสินค้าที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก โดยได้ระบุสาระสำคัญของสัญญาไว้ในข้อ 1 ดังนี้ "ข้อ 1. สาระสำคัญของสัญญานี้คือ (ก) การขนส่งอุปกรณ์รวมทั้งการขนส่งทางบกจากผู้ขายต่าง ๆ ไปยังท่าเรือที่กำหนดให้นำสินค้าขึ้นบรรทุกบนเรือ การขนส่งทางทะเลไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย(หรือท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรืออื่นทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษไม่สามารถขนถ่ายสินค้าลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง) การขนส่งทางบกจากท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพประเทศไทยไปยังโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออกการขนส่งทางอากาศในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษหากเป็นความต้องการของคอมบิบล็อค(ข) การเตรียมการและการประสานงานในการขนส่งสินค้าทั้งหมดจากสถานที่รับมอบสินค้าของผู้ขายต่าง ๆ จนได้จัดส่งสินค้าให้แก่คอมบิบล็อคที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก(ค) การควบคุมดูแล และตรวจสอบการบรรจุหีบห่อเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะขนส่งทางทะเล (ง) การรักษาและการจัดเก็บสินค้าทั้งหมดระหว่างการขนส่งอย่างเหมาะสม (จ) การอนุมัติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากคอมบิบล็อค การดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากร และมาตรการอื่นทั้งหมดที่กำหนดไว้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้ามายังประเทศไทย" จากข้อสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนสินค้าที่ซื้อจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทยนอกจากนี้วรรคท้ายของข้อ 1ที่ระบุว่า "คาลเบอร์สัน (จำเลยที่ 1) มีสิทธิที่จะเลือกจ้างผู้รับขนส่งช่วงชั้นดีในการขนส่งตามสัญญานี้ (ทางบกและ/หรือทางทะเลและ/หรือทางอากาศหากเป็นความต้องการโดยชัดแจ้งของคอมบิบล็อค) ในการเลือกดังกล่าวคาลเบอร์สันต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นประการใด คาลเบอร์สันยังคงต้องรับผิดเต็มที่ต่อคอมบิบล็อคในการปฏิบัติตามสัญญานี้" และข้อ 7 ระบุว่า"ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งช่วงอื่นที่คาลเบอร์สัน (จำเลยที่ 1) ได้ว่าจ้างเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามหน้าที่ของตนภายใต้สัญญานี้ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างของคาลเบอร์สันที่จะต้องรับผิดโดยตรงต่อคอมบิบล็อค" ยิ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด แม้จะได้ความว่าบริษัทคาลเบอร์สัน เฮอร์แมนน์ ลุดวิก จีเอ็มบีเอช แอนด์ โค. ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าตามฟ้องจากท่าเรือในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในการนำสินค้าดังกล่าวจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเข้ามายังประเทศไทยตามสัญญาขนส่งเอกสารหมาย จ.21 ย่อมมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่า การติดต่อจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 ภายใต้สัญญาขนส่งเอกสารหมาย จ.21 และจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ดำเนินการขนส่ง ดังนี้ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.21 เป็นการตกลงรับจ้างทำพิธีการทางศุลกากรเพื่อออกของหรือสินค้ารวมทั้งติดต่อประสานงานด้านเอกสารกับผู้ขนส่งให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อคจำกัด เท่านั้น จึงฟังไม่ขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเพียงตัวแทนเรือเพื่อดำเนินการทางศุลกากรแทนบริษัทคาลเบอร์สัน เฮอร์แมนน์ ลุดวิก จีเอ็มบีเอช แอนด์ โค. แต่อย่างใดเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำสั่ง จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ด้วยส่วนสินค้าเสียหายเพียงใดนั้น โจทก์มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายสรายุทธกองเพิ่มพูน พนักงานสำรวจความเสียหายของสินค้าของบริษัทยูไนเต็ด เซอร์เวย์เยอส์แอนด์แอดจัสเตอรส์ จำกัด มาเป็นพยานหลักฐานว่า นายสรายุทธเป็นผู้สำรวจความเสียหายของสินค้าตามใบรับรองการสำรวจเอกสารหมาย จ.14 และได้ทำสรุปรายงานความเสียหายทั้งหมดไว้ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ซึ่งนายกฤษดาฤทธิ์วงค์ ผู้จัดการสาขาแหลมฉบังของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่า ตามเอกสารหมายจ.14 แผ่นที่ 8 ถึง 18 เป็นภาพถ่ายสินค้าที่ได้รับความเสียหาย แม้ปรากฎตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายกฤษดาว่าสินค้าเสียหายจำนวนเพียง 2 หีบห่อ ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ก็ตาม แต่นายสรายุทธผู้สำรวจความเสียหายก็เบิกความยืนยันว่าที่เสียหายมากมีอยู่จำนวน 2 หีบห่อทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบหักล้างถึงความเสียหายของสินค้าที่นายสรายุทธสำรวจทำรายงานได้ จึงเชื่อได้ว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันเสียหายจริงตามรายงานเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ที่บริษัทยูไนเต็ดเซอร์เวย์เยอรส์แอนด์แอดจัสเตอรส์ จำกัด ได้จัดทำขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าความเสียหายของสินค้ามีจำนวนเพียง 2 หีบห่อ จำเลยที่ 1 จึงรับผิดใช้ค่าเสียหายไม่เกินข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 58 เพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้กระทำการให้เกิดความเสียหาย โดยกระทำหรืองดเว้นกระทำโดยเจตนาให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าอย่างไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ไว้นั้น ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้การเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้วินิจฉัยให้ อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สืบพยานหลักฐานในปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้เสียเองโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่าพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ มาตรา 60 ที่บัญญัติว่า "การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้ (1) การสูญหายเสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นการกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหายเสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้" ปรากฏตามภาพถ่ายความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งในใบรับรองการสำรวจเอกสารหมาย จ.14 และใบรับรองการสำรวจดังกล่าวว่าสินค้าบรรจุอยู่ในหีบไม้ หีบไม้แตกหักจำนวน 5 หีบ เป็นเหตุให้สินค้าอุปกรณ์เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ที่บรรจุภายในหีบไม้บุบงอเป็นรอยเสียหาย สาเหตุแห่งความเสียหายภายหลังตรวจสอบปรากฏว่าเป็นผลมาจากการยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวน ไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจำนวนเพียง 10,000 บาท ต่อ 1หน่วยการขนส่ง ตามมาตรา 58แห่งพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด จำเลย - บริษัทคาลเบอร์สัน (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก
ชื่อองค์คณะ พินิจ เพชรรุ่ง สุรินทร์ นาควิเชียร จรัญ หัตถกรรม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan