คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (6), 563
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่าโดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(6) จำเลยค้างชำระค่าเช่า 24 เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน1 พ-0954 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คัน ไปจากโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 38 เดือน โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2536 ถึงเดือนเมษายน 2537 และระหว่างเดือนมิถุนายน2537 ถึงเดือนพฤษภาคม 2538 รวม 24 เดือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่โจทก์อาจเรียกจากจำเลยที่ 1ได้เป็นเงิน 961,491.36 บาท และค่าปรับสำหรับค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นเงิน488,320 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาและนำรถยนต์ที่เช่าออกประมูลขายได้เงินเพียง 600,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ในส่วนต่างของราคาขายสุทธิกับราคา 668,224.30 บาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าขาดราคาเป็นเงิน68,224.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,518,035.66บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าปรับในอัตราวันละ 22 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าและภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าเช่า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2537 โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอม โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนรถยนต์ที่เช่า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์คิดเบี้ยปรับสูงเกินไป และสามารถเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ-0954กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเช่า 38 เดือน ตกลงชำระค่าเช่าอัตราเดือนละ 38,500บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 เมษายน 2534 หากผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับวันละ 21 บาท และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง หากโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี จากค่าเสียหายจนกว่าจะได้รับชำระครบถ้วน ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดอัตราค่าเช่าใหม่แทนเป็นเดือนละ40,062.14 บาท โดยให้มีผลใช้ตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นไป ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2536 ถึงเดือนเมษายน 2537 รวม 12 งวด เป็นเงิน 480,745.68 บาท วันที่ 1 มิถุนายน2537 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ40,062.14 บาท เบี้ยปรับวันละ 22 บาท จนกว่าจะชำระค่าเช่าให้ครบถ้วนและจำเลยที่ 1 สัญญาด้วยว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์จะสามารถขายทรัพย์สินที่เช่าได้ในราคาคันละ 668,224.30 บาท ถ้าทรัพย์สินที่ให้เช่าขายได้ไม่ถึงราคาที่กำหนด จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับจำนวนผลต่างระหว่างราคาขายสุทธิกับราคาที่กำหนดไว้ตามสัญญาต่อท้ายเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.5 หลังจากนั้น จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์อีก ตั้งแต่งวดเดือนมิถุนายน 2537 ถึงเดือนพฤษภาคม 2538 รวม 12 งวด เป็นเงิน 480,745.68 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2538 โจทก์ได้รับมอบรถยนต์ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าคืนมา แล้วโจทก์นำรถยนต์นั้นออกประมูลขายทอดตลาดได้เงิน600,000 บาท ตามใบรายงานผลการประมูล เอกสารหมาย จ.6
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่า โดยเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 24 เดือน เป็นเงินจำนวน 961,491.36 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยที่ 1ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน เป็นเงิน 961,491.36บาท พอดี แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายก็ตามแต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ 1ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าในระหว่างที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซึ่งไม่ถูกต้องตรงความจริง ดังนั้นเมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(6) ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว หาใช่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อันอายุความเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระมีกำหนดสองปีตามมาตรา 193/34(6) นี้ เริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่า 24 เดือนเดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ
สำหรับกรณีเงินค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าได้ราคาต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าอีกจำนวน 68,224.30 บาท และกรณีค่าปรับที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าเช่าล่าช้าเป็นเงินจำนวน488,320 บาท นั้น เห็นว่า ทั้งสองกรณีนี้ กรณีที่หนึ่งเป็นเงินค่าขาดราคาที่ขายรถยนต์ที่เช่าได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า จึงเป็นเงินหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญาและส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนแล้วส่วนกรณีที่สองซึ่งเป็นค่าปรับนั้นก็เป็นเรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่โจทก์กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ทั้งสองกรณีนี้หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่า ภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ไม่เพราะมาตรา 563 หมายถึงการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปเช่นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายเป็นต้น แต่คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่เช่าได้ราคาต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า และเรียกค่าปรับที่ผู้เช่าชำระค่าเช่าล่าช้าซึ่งทั้งสองกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2538 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้คือค่าขาดราคาจำนวน 68,224.30 บาท และค่าปรับที่ชำระค่าเช่าล่าช้าจำนวน 488,320 บาท รวมค่าเสียหาย 556,544.30 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปนั้นศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่ ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่าค่าเสียหายทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงประโยชน์ทางได้เสียของโจทก์และพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้รวมทั้งสิ้น 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์"
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 350,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน จำเลย - นาย กิตติพัฒน์ เฮี้ยนชาศรีหรือเฮี้ยนชาตรี กับพวก
ชื่อองค์คณะ ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ มงคล คุปต์กาญจนากุล สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan