คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1361, 1498 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477
การเป็นสามีภริยากันก่อนใช้บทบัญญัติบรรพ 5 และต่อมาแยกกันอยู่ภายหลังที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แล้ว โดยมิได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันตามนัยแห่งมาตรา 1497,1498 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ย่อมไม่ทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และได้ครอบครองที่พิพาทอยู่ด้วย โดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินแก่จำเลยที่ 1 ทายาทผู้รับมรดกอีกผู้หนึ่งเป็นรายปีทุกปีตลอดมายังมิได้แบ่งปันกันต้องถือว่าต่างเป็นเจ้าของร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกนี้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอน กลับคืนมาได้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ในชั้นฎีกานี้โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนที่อ้างว่าเป็นมรดกของนายเหรียญผู้ตายตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์เป็นบุตรที่นายเหรียญรับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่พิพาทจะเป็นมรดกของนายเหรียญผู้ตายหรือไม่นั้น โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1ซื้อที่พิพาทมาในปี พ.ศ. 2501 ขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากับนายเหรียญโดยชอบ ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายเหรียญ ส่วนของนายเหรียญผู้ตายต้องตกทอดเป็นมรดกจำเลยคงให้การโต้เถียงเพียงว่า จำเลยที่ 1ซื้อที่พิพาทด้วยเงินของจำเลยที่ 1 ภายหลังที่หย่าขาดกับนายเหรียญแล้ว ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ผู้เดียว ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับนายเหรียญเป็นสามีภริยากันก่อนใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมานายเหรียญได้นางละอองเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแยกกับจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับนางละอองตั้งแต่นั้น ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ว่านายเหรียญได้นางละอองเป็นภริยาแยกกับจำเลยที่ 1 ประมาณปี พ.ศ. 2482จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานได้ความจากนางละออง ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าเป็นสามีภริยากับนายเหรียญตอนที่นางละอองอายุได้ 17 ปีเมื่อคำนวณอายุนางละอองขณะเบิกความก็ไม่เกินไปกว่าปี พ.ศ. 2482 นางน้อมน้องสาวจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยก็ว่านายเหรียญแยกไปอยู่กับนางละอองมีบุตรคือโจทก์ในปีเดียวกันนั้น โจทก์อายุ 36 ปีในปี พ.ศ. 2518ก็เป็นระยะเวลาที่ไม่เลยขึ้นไปกว่าปี พ.ศ. 2482 เช่นนั้น จึงฟังได้ว่านายเหรียญแยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ในราวปี พ.ศ. 2482 อันเป็นระยะเวลาที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว และจำเลยที่ 1เบิกความว่าตอนนายเหรียญแยกกับจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับนางละอองได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ การที่จำเลยที่ 1 กับนายเหรียญแยกกันอยู่ภายหลังที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมิได้ทำหนังสือหย่าขาดกันตามนัยแห่งมาตรา 1497, 1498 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 1กับนายเหรียญขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนั้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบของผู้ใดมาก่อนที่จะจดทะเบียนโอนเป็นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ฎีกาว่านายเหรียญมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น จึงต้องฟังตามข้ออ้างของโจทก์ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเหรียญกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องแบ่งตามส่วนสมรสของกฎหมายลักษณะผัวเมีย คือเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเหรียญ 2 ส่วน ของจำเลยที่ 1 ได้1 ส่วน จำเลยมิได้แก้ฎีกาเกี่ยวกับส่วนแบ่งในสินสมรสนี้เป็นอย่างอื่น เมื่อนายเหรียญตายที่พิพาทส่วนของนายเหรียญย่อมตกทอดเป็นมรดกได้แก่ภริยาและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมทันทีที่นายเหรียญถึงแก่ความตาย ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับส่วนแบ่งในที่พิพาทนั้นต้องเป็นไปโดยจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทในฐานะเป็นสินสมรส 1 ส่วน กับมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากส่วนที่เป็นมรดกของนายเหรียญผู้ตายเสมือนตนเป็นทายาทชั้นบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629, 1635 ทายาทโดยธรรมชั้นบุตรซึ่งมีสิทธิรับมรดกนายเหรียญผู้ตายนอกจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3ในคดีนี้ยังมีพระภิกษุเจริญบุตรนายเหรียญที่เกิดกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงต้องแบ่งมรดกของนายเหรียญออกเป็น 5 ส่วน โดยจำเลยทั้งสามกับโจทก์ได้คนละ1 ใน 5 โจทก์คงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาท 2 ใน 15 ส่วน เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองปรปักษ์ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งแปลง คงมีสิทธิได้เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายเหรียญตกทอดแก่โจทก์ และโจทก์ครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกอยู่ด้วยโดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินจำเลยที่ 1 เป็นรายปีทุกปีตลอดมายังมิได้แบ่งปันกัน ต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินมรดกให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปทั้งแปลงจึงผูกพันบังคับได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนกลับคืนมาได้
ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์อ้างสิทธิรับมรดกนายเหรียญเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่าฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนายเหรียญตกทอดแก่ทายาท เมื่อนายเหรียญตายโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกคนหนึ่ง แต่โจทก์ครอบครองปรปักษ์ที่ดินอันเป็นมรดกนี้ต่อมาผู้เดียวหลังจากนายเหรียญตายจนได้กรรมสิทธิ์ทั้งแปลง ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งโฉนด จำเลยก็ต่อสู้คดีไว้ว่า ที่พิพาทไม่เป็นมรดกของนายเหรียญตกทอดแก่โจทก์ และจำเลยเท่านั้นที่เป็นทายาท เมื่อได้ความว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนายเหรียญตกทอดแก่โจทก์ ซึ่งเป็นทายาทบางส่วน และโจทก์มิได้ครอบครองปรปักษ์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนอื่นด้วย ศาลพิพากษาให้โจทก์มีส่วนแบ่งไปบางส่วนตามสิทธิของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่นอกคำขอ
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ 792 ตำบลบางโปรงอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3เฉพาะเนื้อที่ 2 ใน 15 ส่วนของโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แก้โฉนดใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยในที่ดินแปลงนี้ตามส่วนดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับกันไป"
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางอุไร ช่างไม้ จำเลย - นางเนียน ทองเรือง กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุวรรณพ กองวารี ปรีชา สุมาวงศ์ กุศล บุญยืน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan