สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 859 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันใดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไปเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

หนังสือทวงถามมีข้อความชัดเจนว่า ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันเลิกกันจำเลยได้รับหนังสือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2536 กำหนดเวลาชำระหนี้วันสุดท้ายเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันดังกล่าวสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนด

สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากทำขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้สิทธิแก่โจทก์ในการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะใช้สิทธินี้ตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ จึงต้องนำเงินตามบัญชีเงินฝากประจำมาหักจากยอดหนี้ ณ วันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินคงเหลือแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ครบถ้วน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีกระแสรายวัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์วงเงิน 2,500,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยรายเดือน หากไม่ชำระยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้ มีนายศรศานต์กาญจนาภิรมย์ จำนำสิทธิการรับเงินฝากประเภทเงินฝากประจำเป็นประกัน และยอมให้โจทก์หักกลบลบหนี้กับหนี้ของจำเลยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้จำนำทราบ ต่อมาจำเลยได้เบิกเงินจากบัญชีมากกว่าจำนวนเงินที่นำเข้าฝากหักทอนบัญชี เป็นเหตุให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยปรากฏยอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันเป็นต้นเงิน 3,055,702.52 บาท และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่บัญชีเดินสะพัดเลิกกันจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นวันก่อนที่โจทก์โอนบัญชีเงินฝากที่จำนำชำระหนี้จำนวน 459,987.46 บาท โจทก์จึงได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนายศรศานต์ กาญจนาภิรมย์ เพื่อชำระหนี้จำนวน 2,500,000 บาท เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536 จำเลยยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อีกจำนวน 1,015,689.98 บาท และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 168,854.90 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,184,544.88 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 1,184,544.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,015,689.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 494,918.61 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,994,918.61 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 494,918.61 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 554,381.54บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 22กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าปัญหาที่มาสู่ศาลอุทธรณ์มีเพียงว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกวันที่ 11 มกราคม2536 หรือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าสัญญาเลิกในวันอื่นซึ่งคู่ความมิได้โต้เถียงกัน เห็นว่า เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันใดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ชอบหรือไม่ เห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาจึงอาจมีการบอกเลิกสัญญากันโดยแจ้งชัดหรือตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะมีสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเป็นอันเลิกกัน ณ เวลานั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 เพราะตามใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.10 ในวันที่ 18 กันยายน 2535 มีรายการค่าธรรมเนียมเช็คคืน (RCR) อยู่ 2 ฉบับ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ ยังไม่พอรับฟังได้ว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพราะการคืนเช็คอาจจะมาจากเหตุผลหลายประการ ทั้งจำเลยมิได้ถามค้านให้เห็นว่า โจทก์คืนเช็คเพราะเหตุใด หรือนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันในวันดังกล่าว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาบัญชี เดินสะพัดเลิกในวันใด เห็นว่า ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความว่า "และท่านได้เบิกเงินเกินไปจากบัญชีเป็นเหตุให้เพียงวันที่ 11 มกราคม 2536เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารฯ จำนวน 2,994,918.61 บาท" และอีกตอนหนึ่งว่า "ได้มอบให้ข้าพเจ้าแจ้งให้ท่านนำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยไปชำระ ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขารามาธิบดี ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ หากพ้นกำหนดแล้วท่านไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นก็ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันเลิกกันในวันซึ่งครบกำหนดตามหนังสือฉบับนี้" หนังสือดังกล่าวมีข้อความชัดเจนว่าภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันเลิกกัน ไม่อาจแปลเจตนาของโจทก์ผู้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเป็นอย่างอื่นได้ ส่วนรายการแจ้งหนี้เพียงวันที่ 11 มกราคม 2536 มาในหนังสือด้วยนั้นเป็นแต่เพียงแสดงยอดหนี้ตามที่ปรากฏในวันดังกล่าวให้จำเลยทราบเท่านั้น เมื่อจำเลยได้รับหนังสือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2536 กำหนดเวลาชำระหนี้วันสุดท้ายจึงเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันดังกล่าวสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนดโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ให้นำเงินตามบัญชีเงินฝากประจำของนายศรศานต์มาหักจากยอดหนี้ของจำเลยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นการชอบหรือไม่ ตามสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 7 ระบุว่า "เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ้งชัดว่าการจำนำตามสัญญานี้ไม่ตัดสิทธิธนาคารที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้จำนำทราบก่อนแม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ" เห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวกระทำขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้สิทธิแก่โจทก์ในการที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระแต่ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะใช้สิทธินี้ตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ยอมรับมาในฎีกาว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 จึงต้องนำเงินตามบัญชีเงินฝากประจำของนายศรศานต์จำนวน 2,500,000 บาท มาหักจากยอดหนี้จำนวน 3,055,702.52 บาท ณ วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2536 คงเหลือต้นเงิน 555,702.52 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 555,702.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน จำเลย - นาย ประพัฒน์ วิรัตนานันท์

ชื่อองค์คณะ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ระพินทร บรรจงศิลป วิเทพ ศิริพากย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE