“มาตรา 1320 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1320” คืออะไร?
“มาตรา 1320” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1320 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่องนั้น ท่านว่าสัตว์ป่าไม่มีเจ้าของตราบเท่าที่ยังอยู่อิสระ สัตว์ป่าในสวนสัตว์ และปลาในบ่อหรือในที่น้ำซึ่งเจ้าของกั้นไว้นั้น ท่านว่าไม่ใช่สัตว์ไม่มีเจ้าของ
สัตว์ป่าที่คนจับได้นั้น ถ้ามันกลับคืนอิสระและเจ้าของไม่ติดตามโดยพลันหรือเลิกติดตามเสียแล้ว ฉะนี้ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
สัตว์ซึ่งเลี้ยงเชื่องแล้ว ถ้ามันทิ้งที่ไปเลย ท่านว่าไม่มีเจ้าของ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1320” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1320 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2515
โจทก์สูบน้ำออกจากหนองเพื่อจับปลาจนน้ำแห้งสามารถจับปลาได้แล้ว ย่อมถือว่าปลาในหนองอยู่ในความครอบครองของโจทก์ไม่ว่าหนองนั้นจะเป็นหนองสาธารณะหรือไม่จำเลยใช้ปืนขู่ห้ามมิให้โจทก์จับปลาในหนอง แล้วให้พวกของจำเลยจับปลาในหนองไป ย่อมมีความผิดฐานชิงทรัพย์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 339
ป.พ.พ. ม. 1320, ม. 1321
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2513
โจทก์ขุดลอกหนองน้ำสาธารณะเฉพาะบางส่วนเพื่อใช้น้ำและดักปลา โดยปลาเข้ามาในหนองในฤดูน้ำหลาก แล้วติดอยู่กับหนองส่วนที่โจทก์ขุดลอกออกไปไหนไม่ได้ในฤดูน้ำลด เช่นนี้ แม้ปลาจะออกจากหนองไม่ได้ในฤดูน้ำลด ปลาก็ยังไม่เป็นของโจทก์จำเลยจับปลาในหนอง จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2513)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 334
ป.พ.พ. ม. 1320
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2497
จำเลยเอาแหทอดปลาในหนองน้ำซึ่งเป็นลำเหมืองเอกชนสำหรับถ่ายน้ำสู่แม่น้ำ แม้จะมีผู้เช่าเอาเฝือกมากั้นไว้ด้านหนึ่งก็ตาม จำเลยก็ย่อมไม่มีผิดฐานลักทรัพย์ เพราะปลาในเหมืองมาจากทุ่งนาและแม่น้ำทั่วไป หาใช่เจ้าของนำมาเพาะเลี้ยงไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
กฎหมายลักษณะอาญา ม. 6 (10), ม. 293
ป.พ.พ. ม. 1318, ม. 1367, ม. 1320