“มาตรา 1338 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1338” คืออะไร?
“มาตรา 1338” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1338 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้นั้น ท่านว่าไม่จำต้องจดทะเบียน
ข้อจำกัดเช่นนี้ ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงโดยนิติกรรมไม่ได้ นอกจากจะได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อจำกัดซึ่งกำหนดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงมิได้เลย “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1338” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1338 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9248/2544
โจทก์ตั้งรูปคดีโดยบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่และขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์เพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะ มิได้บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอม ซึ่งจำเลยต้องยอมรับภาระบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ตามคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยก็ต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใช้ทางจำเป็น แต่ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิใช้ได้ ก็ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านให้แก่จำเลยแม้โจทก์จะให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์และต่อสู้คดีว่าจำเลยควรได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายในการใช้ทางเพียงครั้งเดียวไม่เกิน 20,000 บาท ก็ตาม แต่โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มเติมให้มีประเด็นในเรื่องทางภาระจำยอม คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทแต่เฉพาะเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นเท่านั้น ปํญหาที่ว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งมีแนวเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 และสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นทางจำเป็นผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ ต่อมามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงย่อยจึงทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกล้อมอยู่จนไม่มีทางออก กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1350 โจทก์ก็ชอบที่จะใช้ที่ดินซึ่งแบ่งแยกออกมาและกันไว้เป็นทางไปยังถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 เพื่อออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนได้อยู่แล้ว โจทก์จะเลือกใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นของจำเลยไม่ได้
โจทก์มีสิทธิใช้ถนนบนที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นตาม ป.พ.พ มาตรา 1349 ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดให้จำเลย
จดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1338 วรรคแรก, ม. 1349, ม. 1350
ป.วิ.พ. ม. 172, ม. 177, ม. 183
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2535
เดิมที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 402 เป็นของจำเลย ต่อมาโจทก์ ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ด้านหลังก่อนแย่งแยกหรือแบ่งโอน จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะ เปิดทางเดินกว้าง 2.5 เมตร ให้โจทก์เดินออกสู่ทางสาธารณะแต่ต่อมาจำเลยล้อมรั้วปิดกั้นในที่ดินของจำเลยทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินของโจทก์ที่แบ่งแยกจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 402 อยู่ในที่ล้อม จึงมีสิทธิผ่าน ที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกที่แบ่งหรือแบ่งโอนไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 การยกเลิกสัญญาที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางผ่านกว้าง 2.5 เมตร เป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 วรรคสองเพียงแต่ตกลงยกเลิกกันด้วยปากเปล่า ไม่มีผลผูกพัน ทางจำเลยโดยผลของกฎหมายไม่จำต้องไปจดทะเบียน สิทธิของโจทก์ที่จะเดินผ่านในที่ดินของจำเลยเกิดขึ้นโดย ผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมจะฟ้องให้จำเลยเปิดทางได้โดยไม่มีอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1338, ม. 1349, ม. 1350
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2535
ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่แบ่งซื้อมาจากจำเลยทั้งสองไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ถ้าโจทก์จะออกสู่ทางสาธารณะจะต้องอาศัยทางในที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ล้อมจึงมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงเดิมของจำเลยทั้งสองที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 และเมื่อเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียน โจทก์ทั้งสองมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงเดิมของจำเลยทั้งสองที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 การที่โจทก์ทั้งสองตกลงด้วยวาจากับจำเลยทั้งสองยกเลิกสัญญาที่จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางผ่าน เป็นการตกลงยกเลิกข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1338 วรรคสอง จึงไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง สิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายคือมีสิทธิเดินผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสองได้ตลอดเวลา เมื่อใดจำเลยทั้งสองปิดทางเดินจนโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสองย่อมจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองเปิดทางได้ ไม่มีอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 163 เดิม, ม. 1338, ม. 1350