Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1357 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1357” คืออะไร? 


“มาตรา 1357” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1357 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1357” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1357 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565
จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจําเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ สินสมรสบางรายการมีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้จําเลยกึ่งหนึ่ง จําเลยขอให้ศาลหมายเรียก ธ. บุตรของโจทก์และจําเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในสัดส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จําเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินคืนแก่จําเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง บัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำการแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ จึงเป็นคําคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจําเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้ของจําเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างสมรสจําเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1357, ม. 1359, ม. 1373, ม. 1471 (3)
ป.วิ.พ. ม. 57 (3) (ข), ม. 59 (1), ม. 84/1, ม. 127

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1357
ป.รัษฎากร ม. 40 (8), ม. 56, ม. 57, ม. 57 ฉ วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2555
เงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก่อนที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและบ้าน ที่ดินและบ้านที่ซื้อจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลย การจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังไม่มีผลทำให้ที่ดินและบ้านดังกล่าวกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด จึงยังคงเป็นสินส่วนตัวของทั้งโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1356, ม. 1357
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE