“มาตรา 1365 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1365” คืออะไร?
“มาตรา 1365” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1365 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเจ้าของรวมต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อบุคคลภายนอกในหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์สินรวม หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดังว่านั้นก็ดี ในเวลาแบ่ง เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะเรียกให้เอาทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้
ถ้าเจ้าของรวมคนหนึ่งต้องรับผิดต่อเจ้าของรวมคนอื่นในหนี้ ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดังว่านั้นก็ดี ในเวลาแบ่ง เจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้
สิทธิที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจใช้แก่ผู้รับโอน หรือผู้สืบกรรมสิทธิ์ในส่วนของเจ้าของรวมนั้น
ถ้าจำเป็นจะต้องขายทรัพย์สินรวมไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติมาตราก่อนมาใช้บังคับ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1365” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1365 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2535
โจทก์และจำเลยแต่งงานในปี พ.ศ. 2526 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ภายหลังจากแต่งงานกันประมาณ 2 เดือน โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านพิพาท โจทก์และจำเลยได้พักอาศัยและทำการค้าร่วมกันในร้านพิพาทเป็นเวลาประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้น โจทก์ได้เลิกร้างกับจำเลยและออกจากบ้านพิพาทไป กรณีไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนชำระเงินค่าเซ้ง สิทธิการเช่า หรือเป็นผู้เช่าร้านพิพาท สิทธิการเช่าร้านพิพาทเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์และจำเลยอยู่ร่วมฉันสามีภริยากันโจทก์และจำเลยได้พักอาศัย และร่วมทำการค้าอยู่ในร้านพิพาทด้วยกันเรื่อยมา แสดงว่าสิทธิการเช่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่หามาได้โดยโจทก์และจำเลยมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน การที่โจทก์ลงชื่อเป็นผู้เช่าร้านพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ไม่เป็นข้อสันนิษฐานว่าจำเลยไม่มีส่วนร่วมด้วย สิทธิการเช่าร้านพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากเหตุที่จำเลยไม่ยอมออกจากร้านพิพาท ที่โจทก์เรียกเงินที่นำไปลงทุนในการค้ากับจำเลยนั้น เนื่องจากเงินที่โจทก์นำไปลงทุนได้เอาไปซื้อเป็นสินค้าไว้จำหน่ายในร้านสินค้าที่โจทก์ซื้อมาย่อมจะต้องมีทั้งขายไปและซื้อมาใหม่ ดังนั้นในเวลาที่โจทก์เลิกร้างกับจำเลยสินค้าในร้านอาจมีมาก หรือน้อยกว่าที่เริ่มซื้อมาในครั้งแรก ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชดใช้เงินตามที่โจทก์ฟ้องได้ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม สมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เกี่ยวกับสิทธิสินค้าในร้านพิพาทภายในกำหนดอายุความ.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1365
ป.วิ.พ. ม. 148
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2509
โจทก์นำยึดที่พิพาทของผู้ร้องในฐานะผู้ร้องเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์อ้างว่าเป็นของผู้ร้อง และผู้ร้องมิใช่ภริยาจำเลย โจทก์ต่อสู้ว่า (1) จำเลยและผู้ร้องได้ร่วมกันทำมาหากินจนเกิดทรัพย์พิพาท จำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทร่วมกับผู้ร้อง (2) ทรัพย์พิพาทเป็นสินบริคณห์ จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปใช้จ่ายในการทำมาหากินร่วมกับผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะยึดทรัพย์พิพาทได้ (3) แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทมาจริง ผู้ร้องก็ซื้อมาในระหว่างเป็นภริยาจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย โจทก์ชอบที่จะยึดได้ ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทและผู้ร้องมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ศาลก็วินิจฉัยได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทร่วมกับผู้ร้องดังข้อต่อสู้ของโจทก์ข้อ 1 และไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1365
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 282, ม. 288
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 323/2505
ผู้ตายทำสัญญากับโจทก์กว่าจะปลูกห้องแถวแล้วแบ่งห้องให้ โดยโจทก์จะยกที่ดินส่วนที่ปลูกห้องแถวให้เป็นการตอบแทน จำเลยซึ่งอยู่กินกับผู้ตายฉันสามีภริยา โดยมิได้สมรสและได้รู้เห็นมีส่วนได้เสียเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน ที่ได้มาตามสัญาด้วยเช่นนี้ จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1358, ม. 1361, ม. 1365