“มาตรา 1376 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1376” คืออะไร?
“มาตรา 1376” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1376 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่บุคคลผู้มีสิทธิเอาคืนไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึง ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1376” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1376 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6340 - 6345/2544
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อันเป็นการใช้อำนาจของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 (1) และเมื่อเพิกถอนการโอนได้แล้วที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อ. มิได้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่โต้แย้งว่าโจทก์เลือกปฏิบัติโดยไม่ฟ้องดำเนินคดีแก่บุตรของโจทก์และบุคคลอื่นที่ได้รับโอนที่ดินจากบริษัท อ. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากจำเลยทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท อ. เห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการถอดถอนโจทก์ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ต่อไป การที่โจทก์ไม่ฟ้องบุคคลอื่นดังกล่าว จึงมิใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัท อ. ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและประกาศแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องถือว่าบริษัท อ. เลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (5) ทั้งมีผลให้โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะกรรมการของบริษัทเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. การที่ผู้ชำระบัญชีโอนที่ดินพิพาทของบริษัท อ. ให้แก่จำเลยทั้งหกตามข้อตกลงแบ่งมรดกระหว่างทายาทภายหลังจากบริษัท อ. เป็นบริษัทร้างแล้วและไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดิน จึงไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และไม่มีผลผูกพันบริษัท อ. เป็นการโอนโดยมิชอบ จำเลยทั้งหกต้องโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัท อ.
ขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกไม่ทราบเรื่องที่บริษัท อ. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง จำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 413 วรรคหนึ่ง, ม. 420, ม. 1246 (5), ม. 1249, ม. 1250, ม. 1251, ม. 1252, ม. 1259 (1), ม. 1336, ม. 1376
ป.วิ.พ. ม. 55
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2536
กรมชลประทานจำเลยรังวัดกั้นเขตชลประทานไว้ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2467 จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทดแทนที่พิพาทในสำนวนแรกแต่หลังจากมีการรังวัดกันเขตการชลประทานแล้ว ผ.เจ้าของเดิมก็ไม่ได้ครอบครองทำกิน โดยจำเลยได้ครอบครองดูแลไม่ให้ใครมารุกล้ำตลอดมา ส่วนโจทก์เพิ่งจะเข้าทำกินในปี 2519 ถือได้ว่าผ. ได้สละการครอบครองที่พิพาทสำนวนแรกหลังจากมีการรังวัดกันเขตชลประทานเป็นต้นมา และจำเลยก็ได้ครอบครองดูแลที่ดินในแนวเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทตลอดมาจำเลยใช้ที่ดินในเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทเพื่อทิ้งดินที่ได้จากการขุดลอกคลองชลประทาน ถือได้ว่าเป็นการใช้ที่พิพาทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะที่พิพาทสำนวนแรกจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) การที่โจทก์ในสำนวนแรก เข้าทำกินในที่พิพาทจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยส่วนที่พิพาทสำนวนหลัง ร. เจ้าของเดิมสละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกับเขตชลประทานตั้งแต่ปี 2481 และจำเลยได้ครอบครองดูแลที่ดินในเขตการชลประทานมาตั้งแต่มีการรังวัดกันเขตโดยใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่พิพาทสำนวนหลังซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) นับแต่ที่ ร. สละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขตการชลประทานถึงแม้ ห. และ โจทก์ในสำนวนหลัง จะเข้าครอบครองและแจ้งการครอบครอง ไว้เมื่อปี 2498 ก็ไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้จำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1304 (3), ม. 1376
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2520
รถยนต์ยี่ห้อดัทสันกะบะขนาด1300ซีซี ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ถูกคนร้ายลักไป โจทก์แจ้งความไว้กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา จำเลยที่ 1 แจ้งความไว้กับจำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลจับคนร้ายลักรถยนต์ได้ได้รถยนต์ของกลางซึ่งตัวถังเป็นของโจทก์แต่ถูกพ่นสีเปลี่ยนไปจากสีเดิม สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุบผารามพิจารณาแล้วเชื่อว่าเป็นรถคันที่หายที่ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพ จึงมอบรถให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินคดี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์โต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับตัวถังรถยนต์ของกลาง เชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 จึงมอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 รับไปรักษาซึ่งเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ไปดังกล่าว จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์โต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับตัวถังรถยนต์ของกลาง ขณะรับรถยนต์ของกลางไว้เชื่อโดยสุจริตใจว่ารถยนต์ของกลางทั้งคันเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ของกลางไว้และซ่อมใช้รถนี้โดยปกติธุระจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ต่อมาเมื่อคดีอาญาถึงที่สุดศาลพิพากษาว่าตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ โจทก์ได้ฟ้องเรียกตัวถังคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบแล้วว่าตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ซึ่งจะต้องคืนให้โจทก์ แต่จำเลยยังไม่คืนให้โจทก์ยังคงใช้ตัวถังรถยนต์ของโจทก์อยู่ตลอดมา จำเลยที่ 1 จึงตกอยู่ในฐานะทุจริตตั้งแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ควรรับผิดในความเสื่อมสภาพของตัวถังและค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ตัวถังรถพิพาทเพียงใดนั้น ควรคำนึงพฤติการณ์แห่งความเป็นจริงของตัวทรัพย์นั้นด้วยว่า เจ้าของทรัพย์นั้นพอจะบรรเทาความเสียหายที่ไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้นโดยหาตัวทรัพย์เช่นนั้นมาชดใช้แทนความเสียหายอันพึงเกิดขึ้นนั้นได้หรือไม่เพียงไร เป็นเหตุผลประกอบด้วย คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สามารถจะหาซื้อตัวถังรถยนต์อื่นมาใช้แทนเพื่อประกอบกับเครื่องยนต์ของโจทก์ที่ถูกลักไปและได้รับคืนมา เพื่อโจทก์จะมีรถยนต์ไว้ใช้ต่อไป การจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสื่อมราคาต่อโจทก์เกินกว่าราคาตัวถังรถพิพาทตามที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นธรรม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 438, ม. 1376