“มาตรา 1390 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1390” คืออะไร?
“มาตรา 1390” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1390 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1390” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1390 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2563
จำเลยเจ้าของภารยทรัพย์มีความผูกพันต้องยอมรับกรรมหรืองดใช้สิทธิบางอย่างในที่ดินของตนเองส่วนที่จดทะเบียนเป็นทางเดินและทางรถยนต์แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1390 การที่จำเลยก่อสร้างหลังคาโรงจอดรถรุกล้ำแนวทางภาระจำยอม แม้โจทก์ได้ใช้ที่ดินที่ทางราชการกันไว้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิสร้างหลังคาโรงจอดรถยื่นออกมารุกล้ำทางภาระจำยอมได้ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยรื้อถอนโครงหลังคาเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมได้การที่โจทก์ประกอบธุรกิจในที่ดินโฉนดเลขที่ 19922 และโจทก์ให้ลูกค้าของโจทก์ซึ่งใช้บริการในที่ดินดังกล่าวมาใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยด้วย อันเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 และมาตรา 1389 แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวห้ามมิให้โจทก์กระทำเช่นนั้น หาทำให้สิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์สิ้นไปไม่ส่วนการที่โจทก์ใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยนั้น ก็ได้ความว่า โจทก์ยังคงใช้ทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 13578 อยู่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 บัญญัติว่า ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน ซึ่งคำว่า ภาระจำยอมหมดประโยชน์นั้นหมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้น ก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยก็หาทำให้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยที่มีอยู่แล้วสิ้นไปไม่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินเลขที่ 19778 ของจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1388, ม. 1389, ม. 1390, ม. 1400
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561
ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 362, ม. 365
ป.พ.พ. ม. 1387, ม. 1390
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15407/2558
สัญญาข้อ 2 มีใจความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอม โดยโจทก์ตกลงจดทะเบียนให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36717 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้มีความกว้าง 12 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 9 เมตร ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นทางภาระจำยอม สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36716, 36717 และ 341 ของโจทก์ ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้ใช้เป็นทางภาระจำยอมตลอดไป เว้นแต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้ทางภาระจำยอมเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ก็ยินยอมให้จดทะเบียนยกเลิกทางภาระจำยอมได้ ตามคำฟ้องและคำให้การทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ฝ่ายตนตามสัญญา ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากันแล้ว หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้ศาลบังคับให้โจทก์จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนด้วยนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปในคราวเดียวกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ หากจำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามา โจทก์อาจมีข้อต่อสู้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะพิพากษาบังคับโจทก์ก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้งเข้ามาโดยมีคำขอให้ศาลบังคับโจทก์ ศาลย่อมไม่อาจวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้และพิพากษาบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวเป็นการตอบแทนได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์เช่นกันได้
ขณะทำสัญญาก็ดี ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ดี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ใช้บังคับอยู่ จึงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และให้ใช้ พ.ร.บ.นี้เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินต่อไปก็ตาม ก็ยังคงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง ก็มีใจความทำนองเดียวกับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว หากให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ถนนดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมใช้ถนนดังกล่าวในฐานะทางภาระจำยอมทำนองเดียวกันกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากโครงการที่ได้รับอนุญาต กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก อันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง จึงไม่เป็นโมฆะ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ม. 43 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 142
ป.พ.พ. ม. 1387, ม. 1390