“มาตรา 1400 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1400” คืออะไร?
“มาตรา 1400” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1400 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีกแต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน
ถ้าภาระจำยอมยังเป็นประโยชน์แก่สามยทรัพย์อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ภารยทรัพย์แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนักไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1400” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1400 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2563
จำเลยเจ้าของภารยทรัพย์มีความผูกพันต้องยอมรับกรรมหรืองดใช้สิทธิบางอย่างในที่ดินของตนเองส่วนที่จดทะเบียนเป็นทางเดินและทางรถยนต์แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1390 การที่จำเลยก่อสร้างหลังคาโรงจอดรถรุกล้ำแนวทางภาระจำยอม แม้โจทก์ได้ใช้ที่ดินที่ทางราชการกันไว้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิสร้างหลังคาโรงจอดรถยื่นออกมารุกล้ำทางภาระจำยอมได้ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยรื้อถอนโครงหลังคาเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมได้การที่โจทก์ประกอบธุรกิจในที่ดินโฉนดเลขที่ 19922 และโจทก์ให้ลูกค้าของโจทก์ซึ่งใช้บริการในที่ดินดังกล่าวมาใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยด้วย อันเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 และมาตรา 1389 แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวห้ามมิให้โจทก์กระทำเช่นนั้น หาทำให้สิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์สิ้นไปไม่ส่วนการที่โจทก์ใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยนั้น ก็ได้ความว่า โจทก์ยังคงใช้ทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 13578 อยู่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 บัญญัติว่า ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน ซึ่งคำว่า ภาระจำยอมหมดประโยชน์นั้นหมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้น ก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยก็หาทำให้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยที่มีอยู่แล้วสิ้นไปไม่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินเลขที่ 19778 ของจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1388, ม. 1389, ม. 1390, ม. 1400
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5107/2545
แม้คันดินกั้นน้ำที่ผ่านหน้าบ้านโจทก์สามารถใช้เป็นทางเดินและในฤดูแล้งสามารถใช้เป็นทางรถยนต์แล่นได้ แต่คันดินกั้นน้ำสามารถใช้เป็นทางเดินและทางให้รถยนต์แล่นเฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น ถ้าเป็นฤดูฝนและช่วงน้ำหลากจะใช้เป็นทางไม่สะดวกเพราะน้ำท่วมคันดิน พื้นถนนบนคันดินทรุดและลื่น แสดงว่าทางภารจำยอมพิพาทยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ในช่วงน้ำหลากหรือในกรณีฝนตกหนัก เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ประโยชน์ของโจทก์ที่จะได้จากทางพิพาทยังมีอยู่มาก จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ที่ดินจำเลยทั้งสองพ้นจากภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1400 วรรคสองได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1400 วรรคสอง
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7696/2542
เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงย่อยรวม 26 แปลง แล้วจัดสรรขายแก่บุคคลทั่วไปโดยกันที่ดินส่วนที่เป็นทางพิพาท กว้าง 5 เมตร ยาว 80 เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะของที่ดินแปลงย่อยทุกแปลงและเป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรดังกล่าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงย่อยที่จัดสรรขายย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ทางพิพาทได้ แม้โจทก์ที่ 1 มีทางออกสู่ถนนสาธารณะทางอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาทและโจทก์ที่ 2 พักอาศัยอยู่ที่อื่นก็ตาม กรณียังไม่อาจถือได้ว่าทางพิพาทนั้นหมดประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะใช้ออกสู่ทางสาธารณะ การที่จำเลยก่อสร้างรั้วและประตูลงในทางพิพาทย่อมเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความสะดวก ถือว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยก่อสร้างออกไปเสียจากทางพิพาทได้
สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับรื้อถอนรั้วประตูและหลังคาตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่กีดขวางออกไปเสียจากทางภาระจำยอม แล้วทำทางภาระจำยอมให้กลับสู่สภาพเดิม แต่โจทก์ทั้งสอง มิได้เป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางภาระจำยอมดังกล่าว และประเด็นข้อพิพาทก็คงมีเพียงว่า จำเลยได้ก่อสร้างรั้ว ประตู และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในทางภาระจำยอมหรือไม่เท่านั้น และหากจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในทางพิพาทโดยการครอบครอง ทางพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นภาระจำยอมสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองเช่นเดิม คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในทางพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1387, ม. 1400
ป.วิ.พ. ม. 249