“มาตรา 1403 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1403” คืออะไร?
“มาตรา 1403” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1403 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สิทธิอาศัยนั้น ท่านว่าจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้อาศัยก็ได้
ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านว่าสิทธินั้นจะเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่ผู้อาศัยตามสมควร
ถ้าให้สิทธิอาศัยโดยมีกำหนดเวลา กำหนดนั้นท่านมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี การให้สิทธิอาศัยจะต่ออายุก็ได้ แต่ต้องกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบปีนับแต่วันทำต่อ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1403” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1403 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8015/2551
ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับ ช. มารดาจำเลยทั้งสองนั้นเป็นบันทึกข้อตกลงที่ก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้เป็นโมฆะเสียเปล่าไม่ ยังคงบังคับกันได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญา เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
บันทึกข้อตกลงระบุให้ ช. และบริวารอยู่อาศัยในห้องแถวทั้งสี่ห้องจนกว่าจะทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้ อันเป็นข้อตกลงที่ระบุเงื่อนไขไว้ชัดแจ้งว่า ช. และบริวารสามารถอยู่อาศัยในห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ได้จนกว่าห้องแถวนั้นจะทรุดโทรมประการหนึ่งและการทรุดโทรมนั้นต้องทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องแถวได้อีกประการหนึ่ง เมื่อครบทั้งสองประการดังกล่าว ช. และบริวารจึงจะอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ต่อไปไม่ได้ต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการเป็นที่เห็นได้ว่าการทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้นั้น ไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะทรุดโทรมเมื่อใดและเมื่อทรุดโทรมแล้วเมื่อใดจึงจะถือว่าอยู่อาศัยไม่ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินโดยมีกำหนดเวลา อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1412 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1403 วรรคสาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1299 วรรคสอง, ม. 1403 วรรคสาม, ม. 1412 วรรคสอง
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2530
การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาทนั้น เมื่อโจทก์เรียกค่าเสียหายมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ มิได้เรียกมาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น และขณะยื่นคำฟ้องปรากฏว่าอาคารพิพาทมีค่าเช่าไม่ถึงเดือนละ 2,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 เช่นเดียวกับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
แม้จำเลยจะได้ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับเจ้าของอาคารซึ่งได้เลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยก่อนที่จำเลยจะทำสัญญาเช่ากับเจ้าของอาคารโดยขณะนั้นโจทก์ยังเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทอยู่จำเลยจึงหาอาจยกสัญญาเช่าของจำเลยมาเป็นข้อต่อสู้ไม่ยอมออกจากอาคารพิพาทที่จำเลยอาศัยอยู่โดยสิทธิของโจทก์ได้ไม่.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 537, ม. 564, ม. 1403
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 224, ม. 249
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289 - 2290/2528
โจทก์เช่าที่พิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ ให้ จำเลยทั้งสองสำนวนอาศัยปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่พิพาทโดย ฟ้องขับไล่จำเลยจำเลยทั้งสองก็ต้องออกไปจากที่พิพาทจะอ้างว่าโจทก์ให้เช่าช่วงที่พิพาทและไม่เคยบอกเลิก สัญญาเช่าช่วงโดยไม่ปรากฏว่ามีสัญญาเช่าช่วงต่อกันหาได้ไม่และไม่ว่าข้อเท็จจริงจะฟังว่าจำเลยทั้งสองอาศัยที่พิพาท จากโจทก์หรือเช่าช่วงจากโจทก์ก็ตาม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ขับไล่จำเลยทั้งสองได้ ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224(แก้ไขโดยฉบับที่ 6 พ.ศ. 2518) ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตาม ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม มาตรา 238 และมาตรา 247 เมื่อโจทก์จำเลยแถลงร่วมกัน ทำให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ส่วนพยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้นโจทก์ไม่ติดใจซึ่งมี ผลเท่ากับว่าคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเท่านั้นการที่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากที่คู่ความ ท้ากันอันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายศาลฎีกา จึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมานั้น ได้ตามมาตรา 243(3) และมาตรา 247 ดังที่มาตรา 238 บัญญัติไว้ โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันขอท้าให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อ เดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ศาลชั้นต้นได้ จดรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ว่าส่วน พยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้น โจทก์ไม่ติดใจเมื่อเป็นเช่นนี้ คดีเสร็จการพิจารณาข้อความดังกล่าวแสดงชัดอยู่ใน ตัวเองว่า การสืบพยานนั้นต่างฝ่ายต่างก็ไม่ประสงค์จะ สืบพยานแม้โจทก์จะได้สืบพยานไปแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจจำเลยทั้งสองมิได้แถลงขอสืบพยานหรือแถลงคัดค้านแต่ประการใด เช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิจะสืบพยานตามคำท้า
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 538, ม. 545, ม. 1403
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 85, ม. 224, ม. 238, ม. 243 (3), ม. 247