“มาตรา 1411 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1411” คืออะไร?
“มาตรา 1411” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1411 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไซร้ ท่านว่าสิทธินั้นอาจโอนได้และรับมรดกกันได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1411” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1411 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561
ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1367, ม. 1410, ม. 1411, ม. 1599, ม. 1600
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 11
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559
ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 146, ม. 1367, ม. 1410, ม. 1411, ม. 1599, ม. 1600
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 167
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 11
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2492
โจทก์ขายเรือนซึ่งอยู่ในที่ของโจทก์ให้จำเลย โดยมีข้อสัญญากันว่าโจทก์ผู้ขายยอมให้จำเลยผู้ซื้ออยู่ในที่ดินมีกำหนด 3 ปี โดยไม่คิดค่าเช่า นับแต่วันทำสัญญาดังนี้ ในระยะ 3 ปีนี้จำเลยย่อมเอาเรือนหลังนี้ไปให้คนอื่นเช่าอยู่ได้ เพราะเรือนเป็นของจำเลยผู้ซื้อ จำเลยจะอยู่เองหรือจะให้ใครอยู่ ก็ย่อมมีสิทธิทำได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาซื้อขาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 453, ม. 458, ม. 1299, ม. 1404, ม. 1410, ม. 1411