“มาตรา 1435 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1435” คืออะไร?
“มาตรา 1435” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1435 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "การหมั้น" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การหมั้น" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1435” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1435 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 172 วรรคสอง, ม. 407, ม. 412, ม. 413, ม. 1435, ม. 1437, ม. 1463
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2535
โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1435, ม. 1437, ม. 1439
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2526
สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยมีสาระสำคัญว่า ให้จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน เพราะไม่ใช่สัญญาหมั้น จึงไม่อาจบังคับได้ คดีไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานกันต่อไป
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1439 ถ้าฝ่ายใด ผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน ฉะนั้นการตกลงจะสมรสโดย ไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองไว้ และจะนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยนิติกรรมมาใช้ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้นและการสมรส ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 113, ม. 1435, ม. 1437, ม. 1439
ป.วิ.พ. ม. 86