“มาตรา 1455 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1455” คืออะไร?
“มาตรา 1455” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1455 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
(๑) ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
(๒) ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม
(๓) ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1455” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1455 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2527
เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสนั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 มาตรา 10 บัญญัติให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้เมื่อมีการร้องขอ การที่นายทะเบียนจะปฏิเสธได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่ง มาตรา 1448 ถึงมาตรา 1454 และมาตรา 1458 ตามที่ได้ ตรวจชำระใหม่ ซึ่งมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสในกรณีที่นายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส ผู้มีส่วนได้เสียก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาล โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าการเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ก็ให้ศาลมีคำสั่งไปให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 ม. 10, ม. 15
ป.พ.พ. ม. 1458, ม. 1448, ม. 1454, ม. 1455, ม. 1456, ม. 1457
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2509
จำเลยชอบดุด่า ชอบเสพสุรา เคยฟันโจทก์ 2 ครั้งที่แขนซ้ายและมือซ้ายเคยเอากาแฟร้อนสาดหน้าและต่อยโจทก์และโจทก์ก็เคยฟันจำเลยถึงกระดูกนิ้วขาดแม้จะนับได้ว่าเป็นเรื่องรุนแรงอยู่มาก แต่ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากการที่ได้เป็นสามีภริยากันมารวม 2 ระยะ เป็นเวลาประมาณ 7-8 ปีแล้ว ถือว่าไม่มีลักษณะจะเป็นเหตุที่โจทก์จะขอให้ตนแยกอยู่ต่างหากจากจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1455
หมายเหตุ เหตุตามที่ฟ้องนี้อาจฟ้องขอหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500(2) แต่ขาดอายุความแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1455
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2506
พี่น้องร่วมบิดามารดาได้เสียเป็นผัวเมียกัน เมื่อพ.ศ.2477 นั้น ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียจะต้องถูกลงโทษลอยแพ ฉะนั้น พี่น้องดังกล่าวจึงมิใช่ผัวเมียที่ชอบด้วยกฎหมายแม้ต่อมา พ.ศ.2483 จะมีบุตรด้วยกันก็เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา เว้นแต่บิดาจะจดทะเบียนหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องบิดาเรียกทรัพย์ที่ยืมไปคืนได้ไม่เป็นอุทลุม
แม้ชายอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และหญิงอายุสิบห้าปีบริบูรณ์จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยมิได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองก็ตาม ก็หาถือว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ กฎหมายเพียงแต่ให้อำนาจบิดามารดาหรือผู้ปกครองร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการสมรสเสียได้เท่านั้น หากไม่มีการร้องขอให้เพิกถอนชายหญิงนั้นก็ย่อมบรรลุนิติภาวะแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 20, ม. 1455 (1), ม. 1447, ม. 1493, ม. 1526, ม. 1534