“มาตรา 1473 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1473” คืออะไร?
“มาตรา 1473” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1473 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1473” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1473 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2565
โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ให้แก่จําเลย มิใช่ให้จําเลยถือครองที่ดินแทนโจทก์ และตามสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30376 ดังกล่าวมาโดยการรับโอนมรดก ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จําเลยโดยไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจําเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) จําเลยย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวได้เอง ตามมาตรา 1473 ดังนั้น การที่จําเลยจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ผ. ไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่จําต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินของจําเลยหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่จําเลยในระหว่างสมรส อันเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกล้างเสียในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยได้ขายที่ดินไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกอบกับหลังจากปี 2559 โจทก็ไม่ได้ส่งค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่จําเลย เนื่องจากจําเลยผิดข้อตกลงเรื่องหย่า และโจทก์คิดว่าจําเลยมีเงินส่งเสียบุตร เพราะจําเลยขายที่ดินที่โจทก์ยกให้ไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมโดยปริยายให้นําเงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจําเลยและบุตรของโจทก์ เฉพาะอย่างยิ่งบุตรโจทก์กําลังศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงไม่เป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องขอให้จําเลยคืนเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1469, ม. 1471, ม. 1473, ม. 1474
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2564
คดีก่อน น. ฟ้องจำเลยที่ 20 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 20 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงขายที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือให้สัตยาบันจาก น. เป็นการจัดการมรดกโดยมิชอบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพัน น. จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งเป็นของ น. สองในสามส่วนอันเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 วรรคสอง (เดิม) ส. ผู้เป็นสามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจาก น. ภริยาก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1468 (เดิม) และมาตรา 1473 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส. ย่อมมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์รวมทั้งในส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. ให้แก่ผู้อื่นได้โดยลำพัง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจาก น. ก่อน จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. คู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ ส. ทำไว้ก่อนตายได้ การที่จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในการจัดการทรัพย์สินของ ส. เพื่อชำระหนี้ที่ ส. มีความรับผิดอยู่ก่อนตาย และเพื่อนำทรัพย์สินที่เหลือมาจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ส. ตามกฎหมาย อันเป็นการจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ตามหน้าที่ที่จำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ของผู้จัดการมรดกไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน น. รวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ น. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 20 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วและผูกพันโจทก์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นอย่างอื่นว่า ส. ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของ น. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1462 (เดิม), ม. 1473 (เดิม), ม. 1719
ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561
แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 1473