“มาตรา 1478 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1478” คืออะไร?
“มาตรา 1478” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1478 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดการทรัพย์สินแต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้ อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1478” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1478 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3980/2532
ในคดีฟ้องขอให้แยกสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายไว้พอเข้าใจได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็มีสินเดิม ดังนี้หากจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสินเดิมประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อมีสินเดิมหรือไม่จึงไม่เกิดขึ้น จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบได้ แม้ศาลชั้นต้นให้จำเลยสืบก็เป็นการสืบนอกประเด็น และหากศาลรับวินิจฉัยก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นและยังมีประเด็นข้ออื่นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยต่อไป แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยมาและข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่ โจทก์จำเลยที่ 1 สมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5(เดิม) ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรส กฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ได้บัญญัติไว้ว่าให้มีการแยกสินสมรสโดยไม่ได้ฟ้องหย่า แต่ก็ไม่มีบังคับไว้ว่าถ้ายังไม่หย่าจะต้องบริคณห์ทรัพย์สินกันเสมอไปจะแยกมิได้ ฉะนั้นการที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 และ 1484 มาใช้แก่คู่สมรสซึ่งสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5(เดิม)จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการสมรสหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวตามความหมายที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4(1) และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 4ได้ยกเว้นนั้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเสน่หาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งสินสมรสดังกล่าวได้.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
กฎหมายลักษณะผัวเมีย ม. 68
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 ม. 4 (1)
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 4
ป.พ.พ. ม. 1475, ม. 1478, ม. 1484
ป.วิ.พ. ม. 84, ม. 86, ม. 87, ม. 104, ม. 183, ม. 240, ม. 243, ม. 247
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2526
ผู้ร้องกับสามีจองซื้อบ้านและที่ดินไว้ ต่อมา อ.สามีทิ้งร้างไปผู้ร้องไม่อาจกู้เงินและจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินที่จองไว้ จึงร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ อ. จัดการขอกู้เงินพร้อมกับจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินไว้กับบริษัท ค.และอนุญาตให้อ. จัดการโอนสิทธิการจองบ้านและที่ดินดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกต่อไป ดังนี้ เป็นการยื่นคำร้องขอแทน อ.โดยที่อ. มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำการแทน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอดังกล่าวได้
คำว่า"อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1478 นั้น หมายความถึงให้ฝ่ายที่ต้องการได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีเหตุขัดข้องตามที่บัญญัติไว้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวแทนการให้ความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ มิใช่ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องแทน อ.โดยอ.มิได้มอบอำนาจไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1478
ป.วิ.พ. ม. 55
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2491
โดยปกติเมื่อชายหญิงยังเป็นสามีภรรยากันอยู่จะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องทรัพย์ที่บริคณห์กันอยู่ไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1467,1472,1478 ในกรณีเช่นที่โจทก์ฟ้องนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย(อ้างฎีกา 622/2489)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
กฎหมายลักษณะผัวเมีย
ป.พ.พ. ม. 521, ม. 531, ม. 1467, ม. 1472, ม. 1478
ป.วิ.พ. ม. 55